"ซีพี"พัฒนาสายพันธุ์ข้าวมีภูมิต้านทานเพลี้ย-โรคในข้าว,ผลิตกล้ายางชำถุง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ในปี 2553 กลุ่มพืชฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาการผลิต ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์พืช และการพัฒนานวัตกรรมด้านจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของสินค้าเกษตรไทย ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รองรับภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA)

สำหรับแผนงานหลัก 5 ด้านที่บริษัทจะดำเนินการในปี 2553 ได้แก่ 1.การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวลูกผสม CP304 และ CP388 รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์แท้ที่มีความด้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคขอบใบแห้ง เพื่อเป็นทางเลือกกับเกษตรกรไทย ในวงงบประมาณ 30 ล้านบาท

2.การพัฒนานวัตกรรมด้านจักรกลเกษตร เพื่อให้ภาคการเกษตรไทยใช้เครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพ โดยในปี 2553 จะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ด้านจักรกลเกษตร ดังนี้

-พัฒนาเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน ที่บริษัทร่วมกับ MTEC ทำการพัฒนาขึ้นมีคุณสมบัติเด่นสามารถสกัดน้ำมันปลามเกรด A ที่ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงถึง 21% โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

-พัฒนาเตา gasifer ระบบพลังงานชีวมวลที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ทะลายปาล์ม แกลบ ซังข้าวโพด เศษไม้ ฯลฯ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในต้นเดือนมีนาคม ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ ที่โรงงานจิระฟาร์ม จ.สุราษฎร์ธานี

-พัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพารา นวัตกรรมใหม่ซึ่งจะได้น้ำยางที่มีคุณภาพในปริมาณมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบวัสดุที่นำมาผลิตในเชิงพาณิชย์และขั้นตอนการจดสิทธิบัตร คาดว่าจะสามารถเปิดตัวประมาณกลางปี 2553

3.ผลไม้ส่งออก จากความสำเร็จในการส่งออกมะม่วง-มังคุด ไปยังประเทศญี่ปุ่นได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ในปีที่ผ่านมา ประกอบกับในปี 2552 บริษัทได้จัดสรรงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแปลงผลิตมะม่วง มังคุดและส้มโอ ที่สวนเกษตรจัดสรรชลบุรี และสวนเกษตรจัดสรรราชบุรี รวมทั้งเกษตรกรใน Contract Farming จนผ่านการรับรองระบบท GAP จากกรมวิชาการเกษตรและยกระดับสู่การผลิตที่ได้มาตรฐานตามเงื่อนไขด้านสุขอนามัยพืช ที่ประเทศญี่ปุ่นและยุโรปกำหนด

ดังนั้น ในปี 2553 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายขยายตลาดส่งออกมะม่วง-มังคุดไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 20% นอกจากนั้นได้เจรจาเปิดตลาดส่งออกส้มโอไปยังตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ตะวันออกกลาง และยุโรปด้วย

4.ปาล์มน้ำมัน ในปี 2553 บริษัทเน้นส่งเสริมการปลูกน้ำมันพันธุ์คุณภาพ "C.P.TENERA" ทดแทนปาล์มเก่าและสวนผลไม้ที่หมดสภาพในภาคใต้ ภาคตะวันออก และเขตทุ่งรังสิต จ.ปทุมธานี ที่เป็นสวนส้มร้าง

5.ยางพารา ในปี 2553 บริษัทคาดว่าแนวโน้มราคายางพาราในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการกล้ายางคุณภาพของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามมา บริษัทฯจึงทำการผลิตกล้ายางชำถุงตามหลักวิชาการให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยตั้งเป้าจำหน่ายกล้ายางชำถุงทั้งสิ้นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท โดยปัจจุบันมียอดสั่งจองกว่า 20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ