นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยที่ทางกระทรวงพาณิชย์จะมีการระบายข้าว 3.75 แสนตันในช่วงนี้ถือว่ามีความเหมาะสม แต่จำเป็นต้องมีการบริหารช่องทางต่างๆ ไม่ให้กระทบเทือนกับตลาดจนเกินไป ซึ่งสามารถทยอยดำเนินการได้
สำหรับนโยบายการระบายข้าว 6 ล้านตันนั้นได้ให้นโยบายไปในที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ(กขช.) แล้ว คือ รักษาประโยชน์ของรัฐ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตลาด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่ชนะการประมูลข้าวโพดซึ่งมีความใกล้เคียงกับบริษัท จีจีเอฟ ที่ชนะการประมูลโครงการโซโลข้าวและถูกยกเลิกสัญญาไป ซึ่งยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะสอบถามไปว่าเป็นล๊อตไหนและมีการประมูลเมื่อไร และจะพิจารณาว่าควรจะมีการยกเลิกสัญญากับริษัทจีจีเอฟด้วยหรือไม่
"เรื่องนี้สามารถดำเนินการร้องเรียนมาได้ หากมีข้อมูลที่พบว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ทางมาเลเซียเริ่มแสดงเจตจำนงว่าอยากจะย้ายไปลงทุนที่กัมพูชา เพราะมีปัญหาเรื่องสัญญากับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของทางมาเลเซียที่สามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ในส่วนกรรมการทุกชุดที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เคยรับผิดชอบอยู่ในสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีก็เปลี่ยนให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลแทน โดยสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังนั้นเชื่อว่าไม่มีปัญหาแล้วเพราะไม่มีสินค้าค้างอยู่ในสต๊อกของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลชาธิการนายกรัฐมนตรี ไปหาแนวทางและออกแบบกลไกการดูแลระบบประกันรายได้เกษตรกรเป็นการเฉพาะแล้วนำกลับมาเสนอที่ประขุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเบื้องต้นจะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรเพื่อให้การดำเนินโครงการนี้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นที่ต้องปรับให้ลงตัว ขณะที่การทำงานยังอยู่ภายใต้ส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นต้น จึงต้องหากลไกมาดูแลเป็นการเฉพาะให้ชัดเจนเพราะถือเป็นโครงการของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
ด้านนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงต่อเกษตรกรหรือดำเนินมาตรการที่เหมาะสมตามหลักการของโครงการประกันรายได้เกษตรกรในเขตภาคใต้ช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวและมีปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในระยะนี้ก่อน และเร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตรและ ธ.ก.ส.เร่งจดทะเบียนจัดทำประชาคม ออกใบรับรองเกษตรกรและทำสัญญาประกันรายได้เกษตรกรโดยเร็ว และมอบหมายให้เลขาธิการนายกฯ หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและเสนอกลไกในลักษณะที่เป็นถาวรหรือออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ เป็นโครงการที่ต่อเนื่องในระยะยาว