นายกฯ ฝาก ICT ขจัดอุปสรรคเข้าถึงโครงข่าย Internet Broadband ของคนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)มอบหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)พจารณาข้อเท็จจริง สภาพปัญหา และแนวทางการสร้างการเข้าถึง Internet Broadband ของประชาชนให้มากขึ้น เนื่องจากขระนี้อัตราการเข้าถึงโครงข่ายดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ

"นายกรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีไอซีทีกลับไปพิจารณาปัญหาและเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าถึงโครงข่าย Internet Broadband พบว่าขณะนี้มีความล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก โดยให้กลับมารายงานในการประชุมครั้งหน้าว่าติดขัดในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้วางแนวนโยบายการพัฒนา Internet Broadband ในอนาคตต่อไป"นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ระบุในระหว่างการประชุมวันนี้ว่า การเข้าถึงโคงข่าย Internet Broadband ของประเทศไทยอยู่ในอันดับเกือบสุดท้ายเมื่อเทียบกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย และเกาหลี

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังได้มอบหมายให้ทางกระทรวงไอซีทีไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมการแก้ไขสัญญาสัมปทานในส่วนของธุรกิจสื่อสาร เพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง รวมถึงการวางแผนในอนาคตที่จะมีการออกใบอนุญาตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

อนึ่ง ในวันนี้ ครม.เศรษฐกิจได้พิจารณาแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกลุ่มการไฟฟ้า และกลุ่มสื่อสาร ภายใต้การวางกรอบการลงทุนโครงข่ายสื่อสารในอนาคตของบมต.ทีโอที และ บมจ.กสท.โทรคมนาคม รวมทั้งกลุ่มรัฐวิสาหกิจสาขาไฟฟ้าให้ชัดเจนและไม่ดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่ลงทุนไปแล้วร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นว่าการพัฒนาระบบ Internet Broadband ในอนาคต เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึง Internet ความเร็วสูง ได้อย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าและสื่อสาร เพื่อป้องกันการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากในปัจจุบันโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ของด้านไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.ได้ดำเนินการวางโครงข่ายหลักไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ครม.เศรษฐกิจมีความเห็นว่า ในการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร ควรต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของการเช่าใช้โครงข่ายดังกล่าวทั้งในด้านมาตรฐานทางเทคนิค ความจุที่เหลืออยู่ และการบริหารจัดการโครงข่ายสื่อสาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ