นักวิเคราะห์คาดแบงค์ชาติจีนขึ้นดอกเบี้ย-คุมเข้มปล่อยเงินกู้เร็วๆนี้ หลัง GDP ปี 52 พุ่งแรง 10.7%

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 21, 2010 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะใช้มาตรการควบคุมอัตรการปล่อยสินเชื่อในเร็วๆนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานในวันนี้ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัว 10.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว มากกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 8.9% ส่วนจีดีพีปี 2552 ขยายตัว 8.7% คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 33.54 ล้านล้านหยวน หรือ 4.91 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขจีดีพีปี 2552 ที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยและประกาศควบคุมการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยหลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานตัวเลขจีดีพีได้ไม่นาน อัตราดอกเบี้ยในตลาดอินเตอร์แบงค์ของจีนพุ่งขึ้นทันที 0.03% แตะที่ 1.50% และอัตราดอกเบี้ยในการทำสว็อปประเภท 1 ปี พุ่งขึ้น 0.03% แตะที่ 2.32% ในช่วงเช้านี้

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารกลางจีนประกาศเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ 0.5% นับเป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551 โดยธนาคารกลางมีเป้าหมายที่จะคลายความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่มีอัตราขยายตัวเร็วที่สุดในโลก

นักวิเคราะห์จากไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า ธนาคารกลางจีนกำลังเดินมาถึงทางตันที่ต้องตัดสินใจว่า จะควบคุมเงินเฟ้อ หรือ ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่การใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงินเร็วเกินไปหรือรุนแรงเกินไป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เศรษฐกิจจีนขยายตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2552 เพราะได้ผลพวงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงถึง 5.86 แสนล้านดอลลาร์จากรัฐบาล อีกทั้งมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคและการปล่อยกู้ในปริมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกลางจีนเผยยอดการปล่อยเงินกู้เดือนธ.ค.ปี 2552 เพิ่มขึ้นแตะ 3.798 แสนล้านหยวน หรือ 5.56 หมื่นล้านดอลลาร์ จากยอดการปล่อยกู้เดือนพ.ย.ที่ 2.94 แสนล้านหยวน ซึ่งทำให้ที่ประชุมเศรษฐกิจโลกออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวร้อนแรงเกินไป และภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์และเงินเฟ้อของจีนกำลังสร้างความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ