ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ AFTA ดึงดูด FDI แต่เป็นโจทย์ให้ไทยเผชิญแข่งขันมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2010 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เชื่อว่า การเปิดเสรีตามความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน(AFTA) ที่มีการลดภาษีสินค้าปกติลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 นอกจากจะทำให้ภาคธุรกิจในอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปภายในกลุ่มด้วยต้นทุนที่ลดลงจากการปรับลดหรือยกเลิกภาษีแล้ว ยังเป็นการดึงดูดการลงทุนโดยตรง(FDI) ให้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยมากขึ้น

นอกจากการลดภาษีในกรอบ AFTA ดังกล่าวแล้ว การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนยังมีความคืบหน้าเป็นลำดับตามเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 ที่จะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีฐานการผลิตและการตลาดร่วมกัน โดยเป็นการเปิดเสรีทั้งด้านสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ รวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีมากขึ้น ทำให้ธุรกิจในอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี

"คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสการขยายตลาดในอาเซียนที่ประกอบด้วยประชากรรวมกว่า 580 ล้านคน และขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียนด้วย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิรกรไทย มองว่า ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียน เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ เช่นกัน จึงทำให้ตลาดส่งออกของไทยขยายกว้างขวางมากขึ้น

โดยอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพและน่าจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าขั้นต้นและกึ่งวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, เครื่องดื่ม, ยานยนต์, คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเกษตรของไทยต้องได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกันความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA) เป็นอีกความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยภาษีของสินค้าปกติลดเหลือ 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.53 ครอบคลุมสินค้าราว 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นสินค้ากลุ่มอ่อนไหวที่ยังคงภาษีไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้การที่จีนปรับลดภาษีสินค้าปกติเหลือ 0% แต่สินค้าขั้นต้นหลายรายการยังมีภาษีอยู่นั้นจะเป็นการสนับสนุนให้จีนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยเพื่อส่งออกกลับไปประเทศโดยได้สิทธิภาษี 0% เช่นกัน เช่น ภาษีผลิตภัณฑ์ยางของจีนที่ปรับลดลงเหลือ 0% ส่งผลให้นักลงทุนจีนมีแนวโน้มเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในอาเซียนรวมทั้งไทยมากขึ้นและส่งออกกลับไปจีนได้โดยได้สิทธิประโยชน์ภาษี 0% แทนการนำเข้ายางพาราจากอาเซียนและไทยเพื่อแปรรูปในจีนที่ยังต้องเสียภาษีในระดับสูง

ปัจจัยหนุนที่คาดว่าจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากจีนเข้ามาในอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้น นอกจากการเปิดเสรีสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีนแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากการเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีรอบที่ 2 ที่ครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการที่กว้างขึ้น ซึ่งนอกจากจะผลักดันให้ธุรกิจในอาเซียนออกไปลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้นักลงทุนจีนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจภาคบริการในอาเซียนสะดวกขึ้นจากการลดกฎระเบียบและเงื่อนไขการจัดตั้งธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลดีจากการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าอาเซียนนั้น แม้ไทยจะเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยต้องเผชิญปัญหาภายในที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหามาบตาพุด ซึ่งทำให้บรรยากาศความน่าลงทุนของไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะปัญหามาบตาพุดที่ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญที่ทางการไทยควรพิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

"การดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีกรอบอาเซียน เป็นโจทย์สำคัญที่ไทยต้องแข่งขันดึงดูด FDI กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีข้อได้เปรียบจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและความมีเสถียรภาพทางการเมือง ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่ยกระดับการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีที่สูงขึ้นก็จะต้องแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ