ธ.ดอยซ์แบงก์ คาดศก.ไทยปี 53 โต 5.5% ตามแรงหนุนของส่งออกและอุปสงค์ในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2010 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจูเลียนา ลี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารดอยซ์แบงก์ คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศไทย(จีดีพี)ปี 53 จะขยายตัว 5.5% เนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวส่งผลให้ภาคธุรกิจส่งออกและการค้าภายในประเทศมีการฟื้นตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่แรงซื้อของผู้บริโภคในตลาดภายในประเทศที่สูงขึ้นและแรงสนับสนุนจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย จะยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปีนี้อีกด้วย โดยเฉพาะแรงหนุนจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ

การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนปี 53 คาดว่าจะขยายตัว 29% และภาคการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 8.4% ซึ่งช่วยปรับค่าจีดีพีให้สูงขึ้นอีก 1.5% ขณะเดียวกันคาดว่าภาคอุปสงค์ภายในประเทศจะมีการเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับตลาดส่งออก

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI Inflation)อยู่ที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าปี 52 ที่อยู่ที่ระดับ -0.9% มีผลทำให้ ธปท.ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.75% ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง แม้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม ดังนั้น นโยบายการเงินของไทยจะยังคงช่วยส่งเสริมให้ภาคอุปสงค์ภายในประเทศเติบโตอยู่ได้

ดังนั้น มองว่า ธปท.ยังคงต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายเดียวกันกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ กับปัญหาที่ว่าเมื่อไรควรจะเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด หลังมีการผ่อนผันนโยบายในภาวะที่ทั่วโลกประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศอาจไม่ระมัดระวังจนทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำและนานจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ในปี 54 เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วขึ้นกว่าคาดการณ์มากเกินไป

"เราคาดว่าการฟื้นตัวของภาคธุรกิจส่งออกและการจัดหาสินค้าคงคลังเข้ามาในสต็อกอีกครั้งเพื่อทดแทนสินค้าเก่าที่หมดไป รวมไปถึงความต้องการสินค้าจากประเทศไทยที่เริ่มมีมากขึ้นในตลาดอเมริกาและยุโรป จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพลิกให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ " นางจูเลียนา ลี กล่าว

สำหรับค่าเงินบาท แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานจะส่งผลดีต่อค่าเงินบาท แต่การแข็งค่าเงินบาทยังมีการควบคุมให้อยู่ในระดับที่กำหนด เนื่องจาก ธปท.ยังคงพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นภายในสิ้นปี 53 ค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์ เว้นแต่จะมีการผันผวนรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศเพื่อนบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ