นักวิเคราะห์ติงโอบามาเสนอใช้กฎควบคุมแบงค์พาณิชย์ ชี้เป็นการดำเนินการด้านเดียว

ข่าวต่างประเทศ Friday January 22, 2010 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเงินโลก ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐ เสนอให้มีการใช้มาตรการจำกัดขนาดและการลงทุนของสถาบันการเงินว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากฎข้อบังคับด้านการธนาคารสหรัฐเป็นการดำเนินงานเพียงด้านเดียว

ตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ดิ่งลงถ้วนหน้า หลังจากโอบามาเสนอให้มีการออกกฎที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อจำกัดขนาดและการลงทุนของสถาบันการเงิน รวมถึงการห้ามไม่ให้สถาบันการเงินเข้าไปลงทุนในเฮดจ์ฟันด์และกองทุนไพรเวทอิควิตี้ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้สหรัฐเผชิญวิกฤตการณ์การเงินระลอกสอง โดยกฎดังกล่าวคล้ายกับมาตรการควบคุมภาคธนาคารที่สหรัฐเคยนำมาใช้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930

คณะทำงานของโอบามาเปิดเผยว่า โอบามาจะประกาศมาตรการชุดใหม่ในการลดขอบเขตความเสี่ยงที่สูงเกินไป ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินในสหรัฐ โดยข้อเสนอในครั้งนี้จะรวมถึงการกำหนดเพดาน ความซับซ้อนและขนาดของการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง (proprietary trading) ซึ่งทางทำเนียบขาวจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อปรับปัจจัยเหล่านี้ให้เป็นร่างกฎหมาย

ทำเนียบขาวระบุว่า การซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเองถือเป็นการพนันชนิดหนึ่ง และเป็นการลงทุนที่ขาดความรอบคอบในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ที่เกือบทำลายระบบการเงินในปี 2551 เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลนำเงินของผู้เสียภาษีจำนวน 7 แสนล้านดอลลาร์มาใช้ในการกอบกู้ภาคธนาคารเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากบริษัทกฎหมาย Eversheds LLP และบริษัท Clifford Chance LLP ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอของโอบามาเป็นการดำเนินการแบบทางเดียวและสกัดการขยายตัวของภาคธนาคาร การดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับของประเทศอื่นๆทั่วโลก และเท่ากับเพิ่มความเปราะบางให้กับภาคธนาคาร

เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จอห์น แมคเคน อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน และมาเรีย คานท์เวล วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต ได้ยื่นข้อเสนอที่แข็งกร้าวกว่าโอบามา โดยข้อเสนอของทั้งสองระบุให้มีการวางข้อกำหนดภาคธนาคารเหมือนกฎกลาส-สตีกัลในทศวรรษ 1930 ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารขนาดใหญ่ไม่สามารถผูกสัมพันธ์กับบริษัทหลักทรัพย์หรือประกอบธุรกิจประกันได้

ทั้งนี้ หากข้อเสนอของแมคเคนและคานท์เวลผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส ก็จะส่งผลให้สถาบันการเงินรายใหญ่ รวมถึงโกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนเลย์, ซิตี้กรุ๊ป, เจพีมอร์แกน เชส และเวลส์ ฟาร์โก ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านการธนาคาร การลงทุน และการประกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ