นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า สนพ.จะเสนอแผนเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศไทยต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ตามกำหนดเดิมในช่วงต้นปี 2554
"เนื่องจากสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับที่ผ่านมาใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 70 ขณะที่ทั่วโลกใช้เพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น หากไทยยังคงใช้ในระดับนี้ต่อไปจะทำให้ก๊าซธรรมชาติหมดไปในเวลาประมาณ 20 ปีข้างหน้า และความจำเป็นในการจัดหาพลังงานไฟฟ้ายังคงมีอยู่
ขณะที่ต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าถ่านหินถึง 1 แสนเท่า รวมถึงยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย" นายชวลิต กล่าวในงานเสวนา "พลังงานนิวเคลียร์ กับบทบาทการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทย"
ทั้งนี้ กพช.จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาว่าจะต้องมีการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ สำหรับพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีการคัดเลือกเพียง 3 แห่งจากทั้งหมดที่ศึกษาอยู่ 14 แห่ง
รองผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างขึ้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 57 และแล้วเสร็จในปี 63 และปี 64 โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 1,000 เมกกะวัตต์ ค่าก่อสร้าง 2- 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกันมีหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น เพราะในช่วง 10 ปีข้างหน้าราคาเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นไปอีก ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติจะมีจำกัดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งในการชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ข้อดีข้อเสีย