(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 52 มาที่ -2.7% แต่ปี 53 ฟื้นโตที่ 3.3-5.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ไทยในปี 52 ติดลบ 2.7% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบในช่วง 2.5-3.5%

จากนั้นในปี 53 คาดว่า GDP จะขยายตัวในระดับ 3-5.3% และปี 54 ขยายตัว 2.8-4.8%

"กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยนปี 52 จะหดตัวน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ในรายงานฉบับก่อน และในปี 53-54 จะขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ โดยที่แรงกดดันด้านราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยงอยู่ในเป้าหมายที่กำหนด"รายงานแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ระบุ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีการส่งออกและภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/52 ขยายตัวมากกว่าที่คาด และเมื่อพิจารณาทั้งปี 52 กระบวนการฟื้นตัวได้กระจายวงกว้างในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยรวมเศรษฐกิจไทยในปี 52 ยังคงหดตัว 2.7% เทียบกับปีก่อน

ขณะที่ปี 53 ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 3.3-5.3% ซึ่งไม่แตกต่างจากประมาณการครั้งก่อน แต่มองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างมีคุณภาพขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีมากขึ้น ซึ่งการบริโภค การลงทุน ของภาคเอกชน และการส่งออกที่ดีขึ้น ที่คาดการณ์ไว้ในปี 53 จะนำไปสู่การเร่งตัวของการนำเข้าที่สะท้อนการฟื้นตัวที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังมีความไม่แน่นอนในระดับสูง จาก 4 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1)เศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ 2) ภาครัฐอาจมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณต่ำกว่าที่คาด 3) การแก้ไขปัญหามาบตาพุด ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ข้อยุติอย่างไรและผลที่ออกมาจะครอบคลุมในวงกว้างมากน้อยแค่ไหน และ 4) เสถียรภาพการเมืองที่จะกระทบความเชื่อมั่นผูบริโภคและนักลงทุน

ธปท.คาดว่าปี 52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบ 0.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับ 0.3% ส่วนในปี 53 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงขึ้นมาที่ 3-5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.3-2.3% ซึ่งในบางเดือนอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสหลุดกรอบเงินเฟ้อที่ ธปท.กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความเสี่ยงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอาจช้ากว่ากำหนด ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดที่หยุดชะงัก และ ปัญหาการเมืองในประเทศ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงจากครั้งก่อน เนื่องจากรัฐบาลได้มีการต่ออายุมาตรการค่าครองชีพลดภาระประชาชนจากสิ้นปปี 52 ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1/53 ขณะเดียวกัน ยังมีแรงกดดันด้านราคาในระยะต่อไปทั้งอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ขณะที่ช่องว่างการผลิตแคบลง ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

"เป้าหมายเงินเฟ้อในปี 53 อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี และมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อด้านบนได้ในบางช่วง"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นพิเศษ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว ธปท.จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยให้เข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน โดยที่สภาพคล่องในระบบสูง อาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่ได้

ดังนั้น นโนบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยจะกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่วนจะเป็นเมื่อไร และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอัตราเท่าไรคงต้องติดตามต่อไป ขณะเดียวกันภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ก็ควรปรับตัว เพราะดอกเบี้ยจะเริ่มอยู่ในช่วงขาชึ้น และเชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์ช็อคเศรษฐกิจอีก

นายไพบูลย์ ยอมรับว่า ในปี 52 ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนจึงต้องเช้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนภาคเอกชนปรับตัวไม่ได้ โดยหลักการของการดูแลค่าเงินบาท โดยระบบลอยตัว และหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.คงไม่สามารถกำหนดให้เงินบาทอยู่ในระดับใดได้ จะต้องเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ ธปท. ก็มีเครื่องมือที่ดูแลความผันผวนของค่าเงินให้มีประสิทธิภาพ ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าอ่อนค่าถือแป็นเรื่องปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ