เกษตรฯ เผย FVO ส่งทีมตรวจประเมินระบบการควบคุมสารปราบศัตรูพืชในอาหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า หน่วยงาน Food and Veterinary Office (FVO) จะจัดส่งคณะ ผู้ตรวจประเมินมายังประเทศไทย เพื่อทำการตรวจประเมินระบบการควบคุมสารปราบศัตรูพืชในสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช พร้อมตรวจประเมินระบบป้องกันการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในผักสมุนไพรก่อนการส่งออกไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป โดยกำหนดตรวจประเมินระหว่างวันที่ 3-12 มีนาคมนี้

“ การตรวจประเมินครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศกลุ่มเสี่ยง หากปริมาณ การตรวจพบปัญหาทั้งสารปราบศัตรูพืชตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและไม่ลดลงจากปีที่ผ่านมา อาจทำให้อียูเพิ่มระดับการตรวจเข้มหรือระงับการนำเข้าจากไทยก็เป็นได้" นายวิณะโรจน์ กล่าว

ตามที่สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบ 669/2009 ว่าด้วยการควบคุมการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่มิได้มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการตรวจสอบสินค้ากลุ่มที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงในการพบสารตกค้างของอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) สารโอคราท็อกซิน เอ (Ocharatoxin A) แคดเมียม สารตะกั่ว สี Sudan และ สารกำจัดศัตรูพืช จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน กาน่า อินเดีย ไนจีเรีย อุซเบกิสถาน เวียดนาม ปากีสถาน สาธารณรัฐโดมินิกัน ตุรกี รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

สำหรับสินค้าไทยที่จะถูกตรวจสอบมี 3 รายการ คือ ถั่วฝักยาว พิกัดภาษี 0708 20 00 ผักตระกูลมะเขือ พิกัดภาษี 0709 30 00 และผักตระกูลกะหล่ำ พิกัดภาษี 0704 ทั้งที่เป็นผักสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง ซึ่งจะถูกสุ่มตรวจ 50 % จากเดิมที่สุ่มตรวจเพียง 10 % โดยสหภาพยุโรปจะพิจารณาทบทวนเปอร์เซ็นต์การสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้าอย่างน้อยทุก 3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตรวจพบสารตกค้าง หากสามารถแก้ไขปัญหาลดลงได้ สหภาพยุโรปจะถอดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศกลุ่มเสี่ยงในระเบียบดังกล่าว และจะลดระดับการตรวจสอบลงเป็นระดับปกติ แต่ถ้าพบว่ามีปัญหามากขึ้น อาจปรับเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่มตรวจสอบเข้มงวดขึ้นอีก นอกจากสินค้าผักทั้ง 3 ชนิดแล้ว ผู้ประกอบการของไทยยังต้องเพิ่มความระมัดระวังครอบคลุมไปถึงการปนเปื้อนของสี Sudan ในพริก ผลิตภัณฑ์จากพริก สินค้าจำพวกขมิ้น และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้จะถูกตรวจเข้มเพิ่มมากขึ้น ณ ด่านนำเข้าของสหภาพยุโรปด้วย

นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นเกษตรกรควรเร่งปรับตัวโดยต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP อย่างเคร่งครัด และผู้ประกอบการควรเข้มงวดและเพิ่มความระมัดระวังในการคัดเลือกผลผลิตจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานGAP โรงคัดบรรจุที่ได้รับมาตรฐาน GMP แล้วเท่านั้น และไม่ควรรับซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หากไม่มั่นใจสามารถส่งผลผลิตตรวจสอบได้ที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรหรือห้องปฏิบัติการอื่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วก่อนการส่งออกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ