ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง กรณีจ้าของโครงการ 30 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด รวมโครงการแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของบมจ.ปตท.(PTT) ตามคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง เพราะศาลฯเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีคำวินิจฉัย และบางโครงการศาลฯไม่มีอำนาจพิจารณา รวมทั้ง ไม่มีเหตุที่ศาลฯจะออกคำสั่งตามคำร้อง
ในคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ม.ค.53) เห็นว่าเป็นโครงการที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้บังคับ รัฐธรรมนูญ ปี 50 เพราะได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (EIA) และเป็นโครงการที่รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
รวมทั้ง เป็นโครงการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบางโครงการก็เป็นกิจกรรมไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงอย่างชัดเจน จึงยังไม่สมควรจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนมีคำพิพากษา
ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ขณะนี้มีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนไป ศาลฯเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องแต่ละรายได้เคยนำเสนอต่อศาลปกครองกลางในชั้นไต่สวนเพื่อมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาและในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว จึงไม่เป็นข้อเท็จจริงใหม่ กรณีนี้จึงไม่มีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำร้อง
สำหรับกรณีโครงการหรือกิจกรรมตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางกรอบไวไนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าบางโครงการไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงอย่างชัดเจน แต่เป็นโครงการที่มุ่งควบคุมหรือบำบัดมลพิษหรือติดตั้งอุปกรณืนั้นเห็นว่าการพิจาณราโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนนั้นศาลปกครองสูงสุดก็มีคำวินิจฉัยแล้ว ศาลปกครองกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าวได้
ทั้งนี้ โครงการของกลุ่มปตท. (PTT)ได้รับการยกคำร้องมีจำนวน 9 โครงการ ซึ่งรวมโครงการของบมจ.ปตท เคมิคอล (PTTCH) นอกจากนี้ มีโครงการสยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ,โครงการของบมจ.เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท (HEMRAJ), โครงการพลังงานของบริษัท อมตะ บีกริม เพาเวอร์(ระยอง)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น(AMATA)