ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ชี้ผล FTA ปี 53 ไม่มาก ควรรับมือ-ใช้ประโยชน์เต็มที่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2010 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ผลกระทบและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่างๆ พบว่าในปี 53 เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก แม้จำนวนรายการสินค้าที่มีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ภายใต้ FTA ใด FTA หนึ่งรวมกันสูงถึง 56% ของรายการปรับลดทั้งหมด แต่รายการเหล่านี้รวมกันมีมูลค่านำเข้าจากประเทศคู่สัญญาคิดเป็นเพียง 8% ของมูลค่านำเข้ารวม และคิดเป็น 2% ของอุปทานรวมทั้งประเทศ

นอกจากนี้ อัตราภาษีที่ปรับลดลงเฉลี่ยในปี 2553 ยังลดลงน้อยกว่าที่เคยมีการปรับลดมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยลดลงเพียง 1.2% ในปี 2553 เทียบกับที่ลดลง 3.8% ในปีที่ผ่านมา

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ระบุว่า การมองผลกระทบของ FTAs ที่จะเกิดกับประเทศไทยและภาคธุรกิจต่างๆ นั้น ไม่ควรแยกพิจารณาเป็นรายฉบับ แต่ควรวิเคราะห์ในภาพรวม เนื่องจาก FTA ส่วนใหญ่พูดถึงสินค้ากลุ่มเดียวกัน จะต่างกันเพียงแต่ว่าจะลดภาษีช้าหรือเร็วกว่ากันเท่านั้น ซึ่งในปีนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) เท่านั้นที่จะทยอยลดกำแพงภาษีลงอย่างสมบูรณ์ แต่ยังมี FTA อีกอย่างน้อย 4 ฉบับที่ส่งผลต่อไทย

SCB EIC ได้ศึกษาผลกระทบเชิงลึกลงไปในระดับอุตสาหกรรม โดยพิจารณา 3 มิติ คือ 1.ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีนำเข้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเทียบกับอัตราภาษีที่ปรับลดภายใต้ FTAs ของแต่ละกลุ่มสินค้า 2.การเปลี่ยนแปลงของระดับการคุ้มครองที่ผู้ผลิตภายในประเทศได้รับช่วงก่อนและหลังการยกเลิกภาษีนำเข้า และ 3.สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่สัญญาเทียบกับขนาดอุปทานรวม

ทั้งนี้พบว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยาสูบ, สุรา, สิ่งทอ(ยกเว้นเสื้อผ้า), เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน, กาแฟและชา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกตีตลาดจากผู้นำเข้าสินค้ามาจากประเทศคู่สัญญา โดยเฉพาะอาเซียน, จีน, เกาหลีใต้ และอินเดีย และกลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงจากราคาขายสินค้าในประเทศลดลงต่ำกว่าสัดส่วนของต้นทุนที่ลดลง โดย 5 ธุรกิจหลักนี้มีสัดส่วนต่อ GDP และสัดส่วนต่อการจ้างงานไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ผลของ FTAs เป็นโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่ถูกลง รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสขยายฐานส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่ง SCB EIC ได้พิจารณาผลกระทบโดยวิเคราะห์ในรายละเอียดแยกเป็นแต่ละชนิดสินค้า ในรายประเทศคู่สัญญา พบว่าหลายธุรกิจมีศักยภาพในการขยายฐานการส่งออกเนื่องจากมีส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีนำเข้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และอัตราภาษีภายใต้ FTAs สูง เช่น การส่งออกข้าว, ยางแผ่นรมควัน และผลิตภัณฑ์ยางไปยังประเทศจีน และการส่งออกยางรถยนต์ไปยังประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

"การเจรจาต่อรอง และลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือแม้แต่การกำหนดผลบังคับใช้ของ FTA ฉบับต่างๆ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การนำเอาประโยชน์จากผลของข้อตกลงนั้นไปใช้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก FTAs อย่างเต็มที่ เช่น กรณีของ AFTA ที่ได้ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% มาแล้วกว่าครึ่ง ตั้งแต่ปี 46 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบการค้าของไทยกับอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก นอกจากนี้อัตราการใช้ประโยชน์จาก AFTA ยังคงต่ำ โดยในปี 49 อยู่ที่ 18% สำหรับการส่งออกไปอาเซียน และเพียง 13% ของการนำเข้าจากอาเซียนเท่านั้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า ความคืบหน้าของ FTA ต่างๆ ยังไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ยังมี FTA อื่นๆ กำลังทยอยตามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ จะขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆ ของ FTA และการนำ FTA ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบหรือเปลี่ยนมานำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งอื่นและขยายตลาดการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและล่วงหน้า การพิจารณาผลได้ผลเสียในภาพรวม และการสนับสนุนการพัฒนาในลักษณะบูรณาการมากขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ