นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแผนงานและโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่งคือ โครงการปลูกยางพาราใหม่ในพื้นที่ว่างเปล่าในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนเนื้อที่ 24,486 ไร่ โดยใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งและงบปกติรวมทั้งสิ้น 326.5759 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 — 2558 ดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีเกษตรกรที่มีพื้นที่ว่างเปล่าที่เหมาะสมในการปลูกยางพาราใหม่ใน 696 หมู่บ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 5,302 ราย
สำหรับแนวทางดำเนินการโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 1.การสนับสนุนทุนช่วยเหลือเกษตรกร 269.3460 ล้านบาท 2. การถ่ายทอดความรู้ 47.7180 ล้านบาท และ 3 บริหารจัดการโครงการ 9.5119 ล้านบาท และหลังจากการทำประชาคมโดยผู้นำและกรรมการหมู่บ้านแล้ว สกย. จะติดตามสำรวจข้อมูลพื้นที่ของครัวเรือนเป้าหมายตามบัญชีรายชื่อที่ประชาคมจัดทำ ตลอดจนความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะปลูกยางพาราใหม่ ซึ่งในกรณีที่มีเนื้อที่ว่างเปล่าที่เข้าร่วมโครงการ 7 ไร่ขึ้นไป จะทำให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสามารถมีรายได้มากกว่า 120,000 บาท/ปี ตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ สกย.จะเข้าไปดำเนินการถ่ายทอดความรู้การทำสวนยาง และอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา 6 ปี โดยระยะเวลา 3 ปี แรกกระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำสวนยาง ไร่ละ 6,614 บาท และประสานงานกับแหล่งสินเชื่อเพื่อจัดหาเงินกู้ให้เกษตรกรไว้ใช้ในการดูแลบำรุงรักษาต่อไปอีก 3 ปี เป็นเงิน 4,386 บาท/ไร่
“ในระหว่างที่สวนยางยังไม่ให้ผลผลิตระยะ 3 ปีแรก นอกจากการดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ตามที่เกษตรกรต้องการแล้ว สกย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม และการใช้ประโยชน์จากที่ระหว่างแถวยางปลูกพืชแซมในสวนยาง เช่น สับปะรด ข้าวโพดหวาน กล้วย แตง ถั่วฝักยาว และอ้อยคั้นน้ำ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงที่ยังไม่มีการกรีดยาง พอเข้าสู่ปีที่ 4 ที่สามารถกรีดยางได้ก็ยังจะสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และมีการติดตามประเมินรายได้ของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติมีรายได้เพิ่มขึ้นให้เกิดเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการต่อเป้าหมายที่กำหนดให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 64,000 บาท/ปี เป็น 120,000 บาท/ปี" นายธีระ กล่าว