ก.เกษตรฯเดินหน้าคุมเพลี้ยแป้งแบบยั่งยืน หวังช่วยลดความเสียหายผลผลิตมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2010 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินงานแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งแบบยั่งยืน โดยจะมีการวิจัยพันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยและโรคแมลงต่างๆ รวมถึงเทคนิคในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชซึ่งมีวิวัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และจะเน้นการค้นคว้าที่ใช้ชีววิธีแทนการใช้สารเคมีให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบในระยะยาวที่จะมีต่อทั้งตัวเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ยังจะเร่งพัฒนาแบบจำลองหรือวิธีการพยากรณ์เตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดผลสำเร็จ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับอนุมัติงบประมาณการดำเนินการโครงการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ให้ใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 65,660,000 บาท ครอบคลุมทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนในพื้นที่ 20 จังหวัด ที่พบการแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับมาตรการเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ปลูก 45 จังหวัด เพื่อจัดการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้ง ไม่ให้ทำความเสียหายกับผลผลิตและท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศและป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งปลูกมันสำปะหลังแหล่งอื่น รวมถึงจะทำให้มีท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปราศจากเพลี้ยแป้งในปริมาณที่ เพียงพอที่จะใช้ปลูกในฤดูต่อไป

และที่สำคัญที่สุด คือ เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกัน รับมือ และกำจัดเพลี้ยแป้งไม่ให้สร้างความเสียหายกับผลผลิตอีกด้วย ซึ่งหากผลการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย จะช่วยลดความเสียหายผลผลิตมันสำปะหลัง ของเกษตรกรคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,800 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกรวมประมาณ 30,000—40,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังที่ดำเนินการในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ 45 จังหวัด มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 — กันยายน 2553 ได้มีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 572 ศูนย์ เพื่อจัดทำแปลงสำรวจติดตามสถานการณ์ ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ อาทิ แมลงช้างปีกใส และแตนเบียน ไว้สำหรับใช้ในการควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้ง ถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย รวมถึงประชาสัมพันธ์โดยใช้เครือข่ายของท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดหรือการกลับมาเกิดสถานการณ์ซ้ำในพื้นที่ของตน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ