บอร์ดบีโอไออนุมัติ 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนเฉียด 2 หมื่นล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2010 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ)ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 18,834 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ประกอบด้วย 1.บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนโลหะและชิ้นส่วนประกอบของตัวถังสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,430 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับรถ Eco Car ประมาณ 1.08 ล้านชิ้น/ปี หรือ 26,890 ตัน ขณะที่ชิ้นส่วนประกอบของตัวถังสำหรับรถ Eco Car กำลังการผลิตประมาณ 100,188 ชุดต่อปี มีการจ้างแรงงานไทย 410 คน ตลาดส่งออกหลัก 75% คือกลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลีย อินเดียจีนและญี่ปุ่น ขณะที่อีก 25% จำหน่ายในประเทศ

2. บริษัท ไอเอชไอ เทอร์โบ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยอัดอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์โดยใช้ไอเสียของเครื่องยนต์กลับมาเป็นตัวขับดัน(TURBO CHARGER) กำลังการผลิตประมาณ 600,000 ชุด/ปี และ TURBINE SHAFT ที่เป็นชิ้นส่วนหนึ่งใน TURBO CHARGER กำลังการผลิตประมาณ 450,000 ชิ้น/ปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท จำหน่ายในประเทศ 90% โดยมีลูกค้าหลักคือ อีซูซุ และส่งออก TURBINE SHAFT ประมาณ 10% ให้บริษัทในเครือที่ประเทศจีน

3.บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด(มหาชน) ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์ ได้แก่ สารเพิ่มความหนืดสำหรับการผลิตยางรถยนต์ (TREATED DISTILLATED AROMATIC EXTRACT:TDAE) กำลังการผลิตประมาณ 67,500 ตัน/ปี เพื่อใช้ในการผลิตยางรถยนต์ และสารที่ใช้ในการผลิตยางมะตอย (SECONDARY EXTRACT MIX) กำลังการผลิตประมาณ 82,500 ตัน/ปี ใช้เป็นยางมะตอย มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,105 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ

4.บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 2 โครงการ ในกิจการทดสอบและสำรวจด้านโครงสร้างของแท่นขุดเจาะ และตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม โดยมีประสิทธิภาพในการให้บริการปีละประมาณ 20 งาน เงินลงทุนทั้ง 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 5,219 ล้านบาท โครงการนี้ช่วยสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจในด้านพลังงานก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงเรือและอู่เรือ ช่วยนำเข้าเงินตราต่างประเทศปีละประมาณไม่น้อยกว่า 13-14 ล้านดอลลาร์

5.บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,200 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 131 เมกะวัตต์, ไอน้ำ 41 ตัน/ชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 55 ตัน/ชั่วโมง โครงการนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก(SPP) ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

6.บริษัท ฟินิคซ ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะใช้ของเสียจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ(Black Liquor) เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 9.6 เมกกะวัตต์ ขณะที่ไอน้ำมีกำลังการผลิต 133 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,520 ล้านบาท ทั้งนี้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ได้ตามโครงการจะจำหน่ายให้บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด(มหาชน) เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ

7.บริษัท บางจากโซลาร์เอ็นเนอร์ยี จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,360 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นับว่าเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังผลิตมากที่สุดเท่าที่เคยอนุมัติให้ส่งเสริม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ