นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า ตัวเลขงบประมาณขาดดุลประจำปี 2554 (ก.ย.53-ต.ค.54) ที่เบื้องต้นสำนักงบประมาณกำหนดไว้จำนวน 4 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.05 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2/2553 โดยงบประมาณขาดดุลที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.1-3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2553
"ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะตั้งงบขาดดุลไว้สูงถึง 4 แสนล้าน ซึ่งผมมองว่าสูงเกินความจำเป็น และจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ" นายมนตรี กล่าว
ขณะเดียวกันภาครัฐควรใช้กลไกด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนของภาคเอกชน โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงหาช่องทางตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น ประเทศจีน อินเดีย รวมถึงประเทศอื่นๆในแถบอาเซียน
นอกจากนี้ อาจมีมาตรการจูงใจเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น การปรับลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บในอัตรา 30% ขณะที่ประเทศสิงคโปร์จัดเก็บในอัตรา 17% พร้อมเร่งสร้างความเชื่อมั่นและแก้ปัญหากรณีมาบตาพุดโดยด่วน
นายมนตรี กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ คือ การใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการที่เพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติคส์
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับ 2.5-3% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับ 2.7% ส่วนปัจจัยทางการเมืองก็คาดว่าจะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงจากกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงมาเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย