นายวันชัย ผโลทัยถเกิง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) กล่าวว่า ในปี 53 ก.ส.ล.มีแนวนโยบายหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ การเพิ่มสินค้าปีละ 2 ชนิด โดยปีนี้อยู่ระหว่างศึกษาเตรียมนำสัญญาล่วงหน้าข้าวเปลือก เอทานอล และน้ำตาลดิบ เข้าเทรดในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET) โดยมองว่าข้าวเปลือกมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะทำเป็นโครงการนำร่อง
โดยในส่วนของสินค้าข้าวเปลือกขณะนี้กำลังเดินหน้าเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายในเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานสินค้า เจรจากระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดมาตรฐานคลังสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าที่นำเข้ามาซื้อขายมีคุณภาพมากขึ้น
ด้านเอทานอล มองว่าน่าจะมีประโยชน์หากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีผู้ประกอบการหันมาทำธุรกิจเอทานอลค่อนข้างมากแต่ปริมาณการผลผลิตมากกว่าที่โรงกลั่นจะรับ แต่ถ้านำมาซื้อขายใน AFET น่าจะเกิดประโยชน์กับหลายฝ่ายได้มากกว่า ขณะที่น้ำตาลก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเช่นกันเพียงแต่ความเป็นเป็นไปได้ของเอทานอลน่าจะมีมากกว่าน้ำตาลดิบตรงที่ไม่ต้องเจรจากับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเอทานอลมีเพียงกระทรวงพลังงานเท่านั้น แต่น้ำตาลดิบมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี การจะตัดสินใจนำสินค้าใดเข้ามาซื้อขาย ต้องขึ้นอยู่กับ AFET เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้และนำมาเสนอ ก.ส.ล. เพียงแต่ ก.ส.ล.เห็นว่าสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิดนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก
"ตอนนี้ ก.ส.ล. ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้า กำหนดมาตรฐานคลังสินค้า คิดว่าปีนี้น่าจะได้เห็นข้าวเปลือก และเอทานอล แต่ไม่รู้ว่าอะไรจะนำเข้ามาก่อน"นายวันชัย กล่าว
พร้อมกันนั้น ได้มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณซื้อขายให้เป็น 5 พันสัญญา/วันในปี 57 จากปี 53 ที่คาดว่าปริมาณการซื้อขายจะอยู่ที่ 2 พันสัญญา/วัน เพิ่มจาก 1,500 สัญญา/วันในปี 52 โดยปัจจุบันการซื้อขายสูงสุดยังคงมาจากยางแผ่นรมควันชั้น 3 ประมาณ 600-700 สัญญา/วัน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 400 สัญญา/วันในตอนสิ้นปี 52
ด้านแหล่งข่าวของ ก.ส.ล. กล่าวถึงสินค้ามันสำปะหลังเส้นว่า จะไม่ Delete ออกจากตลาด แต่กำลังศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงสัญญา ส่วนสินค้ากุ้งที่เคยมีการทดลองศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเข้ามาซื้อขายใน AFET นั้น ขณะนี้ได้ตัดสินใจชะลอออกไปก่อน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องตัวอายุสินค้ามีโอกาสเน่าเสียง่าย
สำหรับนโยบายถัดมา นายวันชัย กล่าวว่า คือ แนวทางการเพิ่มโบรกเกอร์ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) อีกเท่าตัวจาก 6 รายในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นายวันชัย ยอมรับว่า ที่ผ่านมาโบรกเกอร์หลายรายต้องเลิกกิจการ เพราะสินค้าที่นำมามีจำนวนจำกัด ขาดสภาพคล่อง และที่สำคัญคือไม่คุ้มการต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นโบรกเกอร์ของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมั่น ซึ่ง ก.ส.ล.จะพยายามหาแนวทางออกมาเพื่อจูงใจให้มีผู้สมัครเข้ามาเป็นโบรกเกอร์ของตลาดสินค้าเกษตร และจะคอยดูแลช่วยเหลือโบรกเกอร์เหล่านี้ไม่ให้มีปัญหาเรื่องการดำเนินกิจการเหมือนที่ผ่านมา
"ปี 57 ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีปริมาณการซื้อขาย 5 พันสัญญา/วัน ซึ่งหาก AFET มีปริมาณการเติบโตต่อเนื่อง ก.ส.ล.จะมีรายได้เพียงพอ โดยไม่ต้องขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐภายในปี 57"นายวันชัย กล่าว
ปัจจุบัน AFET ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐปีละประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับหน่วยงานในการกำกับและพัฒนา แต่ภายในปีนี้ ก.ส.ล. จะให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ กับตลาด AFET เพิ่มขึ้น ซึ่งในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ก.ส.ล.จะจัดให้ความรู้ต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีผู้ที่สนใจเพิ่มขึ้นเป็น 180 คน จากเดิมมีคนลงชื่อสนใจประมาณ 40 คนเท่านั้น
"ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า คนรู้จัก AFET ค่อนข้างเยอะแล้ว แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังไม่รู้จัก หรือถ้ารู้จักก็รู้จักในฐานะหน่วยงานกำกับและพัฒนาด้านการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่หลังจากนี้เราจะทำการส่งเสริมให้คึกคัก เหมือน ก.ล.ต.กับตลาดหลักทรัพย์ที่ดูแล เกื้อหนุนและส่งเสริมกันอยู่"นายวันชัย กล่าว