(เพิ่มเติม) คลัง เผย ศก.เดือนธ.ค.ฟื้นชัด,Q4/52 โตกว่า 3.5% ทั้งปี 52 หดตัวแค่ 2.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ธ.ค.52 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากจากดีมานด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้คาดว่าในไตรมาส 4/52 จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3.5% จากผลบวกการส่งออกดีขึ้นและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่วนทั้งปี 52 คาดว่าเศรษฐกิจไทยติดลบ 2.8% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้

“การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 สะท้อนได้จากดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 51 ซึ่งทำให้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวไม่เกินร้อยละ -2.8 ต่อปี ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้เมื่อช่วงต้นปี"นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากที่ในเดือน ธ.ค.52 และช่วงไตรมาส 4/52 สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจน มาจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 7.5% ในขณะที่ปริมาณเพิ่มขึ้น 4.1%

รายได้การส่งออกของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของจีดีพี เมื่อการส่งออกเติบโตขึ้นอย่างมากก็จะส่งผลให้ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/52 จะฟื้นตัวเป็นบวกได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% ได้อย่างแน่นอน โดยสินค้าส่งออก ที่เป็นตัวเด่น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตร

"มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เร่งตัวขึ้นเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าเครื่องยนต์ใหญ่สุดกำลังดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว"โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว

ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในตลาดจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกในตลาดหลัก(สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น)น้อยลง ปัจจุบัน พบว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังจีนสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯแล้ว โดยมีสัดส่วนประมาณ 10.6% ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอยู่ที่ 10.9% ถือว่าลดลงจากในช่วง 6 ปีก่อนที่เคยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 20%

นายเอกนิติ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 4/52 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ 11.9% โดยปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้าและประเทศคู่ค้า ส่วนการใช้จ่ายภายในประเทศ พบว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาส 4/52 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ 2.6%ต่อปี

ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว 5.1% ต่อปีในไตรมาส 4/52 จากที่หดตัวในไตรมาสก่อนหน้า แต่การลงทุนในหมวดเครื่องจักรยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ยังติดลบเล็กน้อยที่ 1.6%ต่อปีในไตรมาส 4/52

นอกจากนี้ นโยบายการคลังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวในไตรมาส 4/52 ที่ 11.6% ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังมีความมั่นคงจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ 1.0% ของกำลังแรงงาน และทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 52 อยู่ในระดับสูงกว่า 138.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ