ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองสินค้าเกษตรเป็นความหวังหนุนส่งออก แต่มีปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2553 ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งน้ำตาล มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าว เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของโลก รวมทั้งความเสียหายจากการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรบางประเทศพลิกมาเป็นประเทศผู้นำเข้า ส่วนประเทศผู้นำเข้าบางประเทศก็มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัว ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งการฟื้นตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการยางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความต้องการพืชผลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับประเด็นที่ยังต้องติดตามว่าเกษตรกรไทยได้อานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ ต้นทุนการผลิต การที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งโยงไปถึงรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นนั้น ต้องพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรประกอบกันไปด้วย เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ดังนั้น การจัดทำส่วนเหลื่อมทางการตลาดของสินค้าเกษตรแต่ละชนิดจะเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงรายได้ที่แท้จริงที่เกษตรกรจะได้รับจากการที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา และการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่มีผลบังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 นี้ทำให้เกษตรกรไทยไม่ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร กล่าวคือ การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอาจจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาผสมหรือสวมสิทธิ์แทนสินค้าเกษตรของไทย ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง

อีกทั้ง ปัจจุบันรัฐบาลยังมีสต็อกข้าวและมันสำปะหลังจากนโยบายการรับจำนำสินค้าเกษตรในช่วงที่ผ่านมาในปริมาณสูง เนื่องจากภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกในปี 2552 ไม่เอื้ออำนวยต่อการระบายสต็อก รวมทั้งการระบายสต็อกยังส่งผลทางจิตวิทยาต่อราคาสินค้าเกษตร ทำให้ปริมาณสต็อกที่อยู่ในปริมาณสูงนี้เป็นปัจจัยกดดันที่ทางประเทศผู้นำเข้าใช้เป็นข้อต่อรองการรับซื้อสินค้าเกษตรของไทย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2553 น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการระบายสต็อกสินค้าเกษตรของรัฐบาล เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตรในตลาด โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ด้านการแข่งขันในตลาดโลก สินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยหลายชนิดต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันกับเวียดนาม ซึ่งใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเป็นสำคัญ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเผชิญปัญหา ดังนั้น การที่ราคาสินค้าเกษตรในปี 2553 มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น อาจจะส่งผลต่อการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2553 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจากในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรต่างชะลอการนำเข้า ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคาจากเวียดนาม และจีน รวมทั้งปัญหาความเข้มงวดในด้านสุขอนามัยของประเทศผู้นำเข้า และการใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศของประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 17,580.0-18,070.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2552 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0-10.0 โดยคาดว่าสินค้าในหมวดกสิกรรมจะมีการขยายตัวในการส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกข้าว ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง นอกจากนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง และไก่แปรรูปก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 11,890.0-12,460.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0-10.0 ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังต้องจับตาประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหม่ของโลก โดยเฉพาะพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการช่วยเหลือในการพัฒนาระบบชลประทาน และเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการที่ประเทศเหล่านี้เปิดสัมปทานให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนทางด้านการเกษตร ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูป แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศเหล่านี้ยังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งนโยบายของประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อความได้เปรียบเสียเปรียบ ในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในแต่ละตลาด

ประเด็นที่ต้องติดตามคือ การลดค่าเงินด่องของเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ทำให้สินค้าเกษตรของเวียดนามมีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล นอกจากนี้ นโยบายที่ต้องจับตามองคือ นโยบายที่เกี่ยวกับสินค้าสีเขียว โดยเฉพาะนโยบายการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการลดโลกร้อน สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก และสินค้าที่มีการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบสากล โดยมีแนวโน้มว่าประเทศคู่ค้าจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าไปจนถึงแหล่งผลิต และการขอใบรับรองการผลิตในการนำเข้าสินค้า ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

"สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นความหวังของปี 2553 ที่จะช่วยให้มูลค่าการส่งออกของประเทศพลิกฟื้นจากที่เคยหดตัวอย่างรุนแรงในปี 2552 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ยังมีหลากหลายประเด็นที่ยังต้องติดตาม ทั้งในด้านการผลิต และการส่งออก กล่าวคือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศและการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร อาจส่งผลให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกในปี 2553 ส่วนในด้านตลาดต่างประเทศยังต้องจับตาสภาพการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากเวียดนามและจีน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้" ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ