รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรอ.วันนี้พิจารณาข้อเรียกร้องให้ภาครัฐใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจกองเรือที่จดทะเบียนในประเทศไทยเพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้ เงินปันผล และกำไร เป็นต้น
พร้อมกันนั้น ควรศึกษามาตรส่งเสริมที่ประเทศสิงคโปร์ให้การสนับสนุนกับกองเรือ หากประเทศไทยต้องการจะแข่งขันในระดับสากล ประเทศไทยเป็นแหล่งสินค้าต้นทาง (Original Cargo) ภาคเอกชนเห็นว่าควรพัฒนาประเทศให้เป็นประตูทางการค้า (Gateway) มากกว่าที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ ซึ่งกองเรือไทยเท่านั้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นประตูการค้าดังกล่าว
ทั้งนี้ กรอ. มอบหมายกระทรวงการคลัง(โดยกรมสรรพากร) เร่งรัดมาตรการความช่วยเหลือด้านภาษีภายใน 30 วัน และร่วมกับกรมเจ้าท่าและสมาคมเจ้าของเรือไทยเพื่อสรุปข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ (เช่น รายได้และการจ้างงาน)ที่จะได้รับจากมาตรการความช่วยเหลือด้านภาษีดังกล่าวมอบหมายกระทรวงการคลัง หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสมาคมเจ้าของเรือไทยเกี่ยวกับแนวทางการขอสนับสนุนให้มีเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนกองเรือพาณิชย์ไทย และมอบหมายให้ผ่ายเลขานุการแจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการ กรอ.ให้คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย์นาวีประกอบการพิจารณาต่อไป ซึ่งจะมีการประชุมในช่วงปลายเดือนภุมภาพันธ์ 52
รายงานข่าวแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีจะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการในประเด็นนโยบายเกี่ยวกับข้อขัดข้องในการรับบริจาคเพื่อการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้แก่ผู้บริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษาเอกชน เป็นการพิจารณาข้อเสนอของ กกร. โดยขอให้รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาให้ความเห็นชอบและระบุชื่อมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ และให้รมว.คลัง กำหนดให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547
การลดหย่อนภาษีเงินได้ให้แก่ผู้บริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษาเอกชนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางหนึ่ง การลดหย่อนภาษีเงินได้ให้แก่ผู้บริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษาเอกชนควรพิจารณาว่าเงินบริจาคจะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและนักศึกษาอย่างไร ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ กรณีเงินบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาภาคเอกชนจะมีการควบคุมและตรวจสอบ เพื่อป้องกันการทุจริต
นอกจากนี้ กรอ. ยังมอบหมายกระทรวงคมนาคมร่วมกับคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด และกลุ่มจังหวัด ดำเนินการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบินที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางทางอากาศภายในประเทศมากขึ้น และมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการสายการบิน เข้ามาให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศที่มีปัญหาการยกเลิกหรือที่ยังไม่มีสายการบินให้บริการเที่ยวบินประจำ
รวมทั้ง ศึกษาแนวทางพัฒนาและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปยังต่างจังหวัด รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมยังสนับสนุนการเปิดเส้นทางบิน สุวรรณภูมิ-ลำปาง-สุวรรณภูมิ และการขยายทางวิ่งท่าอากาศยานตรัง เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการ กรอ. จังหวัดเสนอคณะกรรมการ กรอ. ส่วนกลาง พิจารณาให้การสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ ดังนี้ (1) กรอ.จังหวัดลำปาง ขอให้พิจารณาสนับสนุนให้มีการเปิดเส้นทางบินประจำ สุวรรณภูมิ-ลำปาง-สุวรรณภูมิ เนื่องจากสายการบินพีบีแอร์ ซึ่งทำการบินประจำในเส้นทางสุวรรณภูมิ-ลำปาง ได้หยุดกิจการ และ (2) กรอ. จังหวัดตรัง ขอให้พิจารณาการสนับสนุนการขยายรันเวย์ หรือทางวิ่งให้มีทางยาวและพื้นที่มากขึ้น เพื่อรองรับการเพิ่มตัวของนักท่องเที่ยว และรองรับการค้า การลงทุน รวมทั้งผู้เดินทางมาจังหวัดซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี
ขณะที่ กรอ.เห็นว่า เส้นทางบินของจังหวัดลำปางได้ดำเนินการแล้ว เส้นทางบินของจังหวัดตรังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้น ควรเพิ่มความถี่ของการให้บริการแทน อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวจังหวัดตรังได้รับความนิยมในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ในการขยายทางวิ่งท่าอากาศยานตรังเป็นระยะ 3 กิโลเมตร คณะกรรมการ กรอ. จังหวัดควรรายงานสภาพและความต้องการการบินในประเทศของแต่ละจังหวัด เพื่อให้เห็นความต้องการโดยรวม ควรดูการคมนาคมทั้งระบบทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ นอกเหนือจากทางอากาศ กระทรวงคมนาคมจะทำแผนบริหารจัดการสนามบินที่มีอยู่และกำหนดศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค
รวมทั้งมีความเห็นการดำเนินการศึกษาการลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรมจากการใช้น้ำบาดาลโดยดำเนินการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำบาดาลเร่งด่วนก่อน รวมทั้งพิจารณาใช้เงินกองทุนอนุรักษ์น้ำบาดาลเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำบาดาล และรายงานความก้าวหน้าให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบอย่างต่อเนื่อง