ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้เรียกเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B2, แก๊สโซฮอล์ 95 และเบนซิน 91 เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน แต่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ
"การเพิ่มส่วนต่างของน้ำมันจะเป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทน เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนบี 100, เอทานอลปรับเพิ่มทำให้ค่าการตลาดของปั๊มลดต่ำจนไม่จูงใจในการจำหน่าย แต่ขอย้ำว่าจะเก็บเพิ่มกองทุนฯ ในช่วงราคาน้ำมันขาลง เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีกให้ปรับขึ้น" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน ในฐานะประธาน กบง.กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุม กบง.มีมติให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยปรับส่วนต่างระหว่างดีเซล B2 กับ B5 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.50-2.00 บาท จากปัจจุบันที่ลดเหลือเพียง 1.20 บาท/ลิตร, ปรับเพิ่มส่วนต่างระหว่างแก๊สโซฮอล์ 95 กับแก๊สโซฮอล์ 91 จาก 0.80 บาท เป็นประมาณ 1.00 บาท/ลิตร และปรับเพิ่มส่วนต่างระหว่างเบนซิน 91 กับแก๊สโซฮอล์ 91 ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ต่างกันประมาณ 7 บาท/ลิตร
รมว.พลังงาน กล่าวว่า การทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ มีเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นจากอัตรา 300-400 ล้านบาท/เดือน เป็น 700-800 ล้านบาท/เดือน เพื่อรองรับการส่งเสริมพลังงานทดแทน และภาระนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเงินกองทุนน้ำมันฯ จะเพิ่มตามเป้าหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับจังหวะราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลงจนทยอยเก็บส่วนต่างได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งปริมาณการใช้น้ำมันแต่ละประเภทจะเป็นอย่างไรด้วย
"แม้เงินกองทุนน้ำมันฯ จะเก็บได้เพิ่มขึ้น แต่หากผลกระทบนำเข้าแอลพีจีจากกรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรง 6 เปิด ดำเนินการไม่ได้มีมากขึ้น เงินกองทุนน้ำมันฯ ระดับนี้ก็อาจไม่เพียงพอและอาจจำเป็นต้องทบทวนปรับราคาก่อนเดือนสิงหาคมก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่สถานการณ์ เพราะกระทรวงฯ มีนโยบายชัดเจนไม่ต้องการให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้อีก" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
สำหรับสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบันมีเงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยเก็บจากเบนซิน 95 อัตรา 7.50 บาท/ลิตร, เบนซิน 91 อัตรา 6.20 บาท, แก๊สโซฮอล์ 95 อัตรา 2.27 บาท, แก๊สโซฮอล์ 91 อัตรา 1.67 บาท, B2 อัตรา 0.53 บาท ขณะที่มีภาระอุดหนุน แก๊สโซฮอล์ E20 อัตรา 0.46 บาท, E85 อัตรา 10.30 บาท และ B5 อัตรา 0.81 บาท
ด้านนายศิวนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน กล่าวว่า ภาระของกองทุนน้ำมันฯ นอกจากจะเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าแอลพีจีที่ประมาณกว่า 1 แสนตัน/เดือน ซึ่งต้องใช้เงินกว่า 1 พันล้านบาทแล้ว ยังมีภาระที่ต้องไปใช้สำหรับปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์แท็กซี่แอลพีจีเป็นเอ็นจีวีจำนวน 3 หมื่นคัน วงเงิน 1,200 ล้านบาท และเข้าไปรับภาระการตรึงราคาเอ็นจีวีจนถึงเดือน ส.ค.53 ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท หรือประมาณ 300 ล้านบาท/เดือนอีกด้วย