วุฒิสภาสหรัฐมีมติรับรอง"เบอร์นันเก้"นั่งประธาน FED สมัยที่ 2 ด้วยคะแนน 70-30

ข่าวต่างประเทศ Friday January 29, 2010 08:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วุฒิสภาสหรัฐลงมติรับรองนายเบน เบอร์นันเก้ ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สมัยที่ 2 แล้ว ด้วยคะแนนเสียง 70 ต่อ 30 เสียง โดยการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของเบอร์นันเก้จะครบวาระในวันที่ 31 ม.ค.ปี 2553

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กล่าวแสดงความยินดีหลังจากวุฒิสภาลงมติรับรองเบอร์นันเก้ โดยกล่าวว่าเขามุ่งมั่นรอคอยที่จะร่วมงานกับเบอร์นันเก้ ผู้ซึ่งมีสติปัญญาหลักแหลมและมีจุดยืนเข้มแข็งในการเป็นผู้นำและสามารถนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฝ่าฟันวิกฤตการณ์การเงินโลกไปได้

ก่อนหน้านี้ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 กล่าวสนับสนุนให้เบอร์นันเก้นั่งเก้าอี้ประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2 เนื่องจากเบอร์นันเก้ประสบความสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินและทำให้เฟดเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้นเมื่อระบบการธนาคารของสหรัฐเข้าสู่ภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเมื่อเบอร์นันเก้ตัดสินใจอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ และลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0-0.25% เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

นิตยสารไทมส์ ประกาศยกย่องเบอร์นันเก้ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2552 เนื่องจากเบอร์นันเก้เป็นผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอย

เบอร์นันเก้ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า เบน ชาโลม เบอร์นันเก้ เกิดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.1953 ในเมืองออกัสตา รัฐจอร์เจีย และเติบโตที่เมืองดิลลอน รัฐเซาธ์แคโรไลนา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2518 จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2522 จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ได้รับการเสนอชื่อจากอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อจากนายอลัน กรีนสแปนในปีพ.ศ.2549

ก่อนหน้าที่เบอร์นันเก้จะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเฟดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2549 นั้น เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐระหว่างเดือนมิ.ย.2548 ถึงเดือนม.ค.2549 นอกจากนี้ เบอร์นันเก้เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และกิจการสาธารณะที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในช่วงปี 2528-2545 และเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ เอ็มไอที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ