(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ม.ค.53 CPI โต 4.1% ต่อเนื่องเดือนที่ 4,Core CPI โต 0.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ม.ค.53 อยู่ที่ 106.29 เพิ่มขึ้น 4.1% จากเดือน ม.ค.52 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ม.ค.53 อยู่ที่ระดับ 103.03 เพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือน ม.ค.52

"เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน ม.ค.53 ปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเช่นกัน ส่วนหมวดสินค้าทั่วไปค่อนข้างทรงตัว

โดยเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.53 ฟื้นตัวอย่างชัดเจน การบริโภคในประเทศเพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาสินค้าและปริมาณสินค้า สะท้อนความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกฟื้นตัวและรายได้ภาคเกษตรปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ 118.74 เพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือน ม.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือน ธ.ค.52 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.29 เพิ่มขึ้น 4.7% จากเดือน ม.ค.52 และเพิ่ม 0.5% จากเดือน ธ.ค.52

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เหตุที่ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้น 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้น 3.2% โดยได้รับผลกระทบสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผักและผลไม้ถึง 9.4% รองลงมาเป็นข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 8% ที่เหลือเป็นเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ ไข่ นม ผักผลไม้ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องอื่ม โดยได้รับผลกระทบสำคัญจากสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ถึง 13.5% รองลงมาเป็นหมวดด้านการศึกษาและการบันเทิง 10.3% และหมวดพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร 9.9%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า การจับจ่ายใช้สอยจากที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้การจ้างงานเริ่มดีขึ้น ประชาชนมั่นใจในรายได้ของตัวเองและกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตเองจะมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นด้วย

ส่วนในแง่ของรัฐบาลนั้น การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคและเครื่องชี้เศรษฐกิจตัวอื่นๆ เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวรรัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่สะดุดลง

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นั้น มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้สอดคล้องกับการสนับสนุนให้ภาคเศรษฐกิจมีการเติบโต ซึ่งเชื่อว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ