SCRIคาด GDP Q4/52โต2.3% เป็นบวกครั้งแรกรอบ5ไตรมาส,ทั้งปี52 ติดลบ3.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(GDP) ในช่วงไตรมาส 4/52 ว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยคาดว่าจะเติบโต 2.3% หลังสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากทั้งในและนอกประเทศยังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี 52 ประกอบกับปัจจัยเรื่องฐานของปี 51 อยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่คาดว่า GDP เฉลี่ยทั้งปี 52 จะยังอยู่ในระดับ -3.1%

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีกำหนดจะแถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 4/52 และทั้งปี 52 อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ก.พ.53

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 53 นั้น SCRI คาดว่ามีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ทั้งปี โดยมองกรอบไว้ว่าจะเติบโต 2-4% ซึ่งเป็นการปรับตัวอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 52 ได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามโครงการ"ไทยเข้มแข็ง" โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟรางคู่, การก่อสร้างถนนปลอดฝุ่น เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ ยังมาจากแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักในกลุ่ม G-3 คือ สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่ง SCRI มองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 53 สามรรถกลับมาขยายตัวเป็นบกหลังจากที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 52

"SCRI คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 53 มีโอกาสฟื้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.0-4.0% หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3.0% โดยมีจุดสูงสุดอยู่ในช่วง Q1/53 ที่คาดว่า GDP จะโตประมาณ 4.5% ก่อนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดอัตราเร่งในการขยายตัวลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 53 จะมีแนวโน้มปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น แต่ภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน จากทั้งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจจะเกิดการชะลอตัวเป็นวงกว้างจากปัญหาความไม่ชัดเจนของการแก้ปัญหามาบตาพุด ผลกระทบของภาคการส่งออกจากแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยลบจากเสถียรภาพการเมืองที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งปัจจัยลบหลายด้านดังกล่าว อาจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวน้อยลงกว่ากรอบล่างที่ 2.0% ได้

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 53 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3-4% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี 52 เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกให้กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะน้ำมัน

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 53 มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2-3/53 เพียง 0.25-0.50% เท่านั้น ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในหลายด้านที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี 53 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.5-1.75%


แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ