ผู้ส่งออกไม่ห่วงรัฐเลื่อนประมูลข้าวในสต็อก หนุนทำผ่าน AFET เพื่อความโปร่งใส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ไม่ห่วงรัฐบาลชะลอการประมูลข้าวในสต็อกออกไป หลังจากที่ผลประมูลรอบแรกได้ราคาต่ำเกินไป และอาจปรับเกณฑ์ให้เอกชนที่จะเข้าร่วมประมูลข้าวต้องขึ้นทะเบียนกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(AFET) พร้อมหนุนประมูลผ่าน AFET เพื่อความโปร่งใส แม้อาจทำให้ผู้ประมูลมีความเสี่ยงด้านต้นทุนอยู่บ้าง

นางสาวกอบสุข กล่าวว่า การชะลอประมูลข้าวในสต็อกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก เนื่องจากปริมาณข้าวที่เปิดประมูล 3 แสนกว่าตันไม่ได้ถือว่ามาก ขณะที่แต่ละเดือนผู้ส่งออกมีการส่งออกรวมกันเป็น 2 เท่าของจำนวนดังกล่าวอยู่แล้ว

ขณะที่มองว่าการประมูลข้าวผ่าน AFET เป็นเรื่องดี เพราะเป็นกระบวนการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ไม่ต้องกังวลว่า TOR ยุติธรรมหรือไม่ เปิดเร็วไปช้าไป เพียงแต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ที่เข้าร่วมประมูลเมื่อวันที่ส่งอัตรา Basis เข้าประมูล จะยังไม่รู้ว่าราคาข้าวสุดท้ายที่จะซื้อได้คือเท่าไหร่กันแน่ จึงเป็นความเสี่ยงด้านต้นทุนว่าวันที่สัญญาจบแล้วต้องปิดสัญญาราคาเป็นเท่าไหร่ อาจจะถึงกับขาดทุนก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง Speculator เข้าไปปั่นป่วนตลาดตลอดเวลา แต่ไม่มีปัญหาเรื่องผู้ส่งออกไม่เข้าใจกลไกของตลาด AFET

นางสาวกอบสุข คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยปี 53 น่าจะอยู่ในช่วง 9-9.5 ล้านตัน ซึ่ง 9 ล้านตันได้แน่ๆ แต่ 9.5 ล้านตันเป็นประมาณการณ์ใหม่ สาเหตุที่คาดการณ์เช่นนี้เพราะมองว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในจุดต่างๆของโลก อาจส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น เพราะผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อย่างเช่น อินเดียหยุดส่งออกแน่

ทั้งนี้ ประมาณการยอดการค้าข้าวที่ซื้อขายหมุนเวียนทั้งโลกปีนี้ 30 ล้านตัน ส่วนปริมาณผลผลิตน่าจะมีเพียงพอแม้ว่าปริมาณผลผลิตทั้งโลกจะลดลงประมาณ 10 ล้านตันจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากในปีนี้มีผู้ผลิตข้าวเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มราคาข้าวปีนี้ทั้งปีน่าจะทรงตัวในระดับสูง และมีโอกาสทดสอบ 600 เหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่ราคาข้าวขาวอยู่ที่ 570 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนามประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 1 พันเหรียญสหรัฐฯ/ตัน

นางสาวกอบสุข กล่าวถึงกรณีที่เวียดนามตั้งเป้าเป็นผู้นำการส่งออกข้าวแทนไทยว่า ตอนนี้ไทยยังส่งออกข้าวมากกว่าเวียดนามประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ได้มากกมายอะไร โดยปี 52 เวียดนามส่งออกข้าว 5.5 ล้านตัน แต่ก็ส่งออกได้จริง 6 ล้านตัน ส่วนปีนี้เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ 5.5 ล้านตัน เชื่อว่าน่าจะส่งออกได้จริงใกล้เคียงปีก่อนที่ 6 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยกับข้าวเวียดนามถือว่าเป็นคนละตลาด เพราะข้าวเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในลักษณะ G to G และของเราเป็นการส่งออกโดยเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าดูในภาพรวมถือว่าเวียดนามก็เป็นผู้ส่งออกข้าวที่น่ากลัว

"ในฐานะผู้ส่งออกก็คงทำอะไรมากไม่ได้ แต่ก็ต้องบอกรัฐบาลว่าที่ทำอยู่ตอนนี้ถูกทางแล้ว ที่มาทำเรื่องประกันราคา ประกันรายได้แทนการรับจำนำ ผู้ส่งออกกลัวเรื่องรับจำนำมากที่สุด เพราะมีการรับจำนำทีไรมีปัญหาเรื่องลักลอบนำเข้าข้าวคุณภาพตามาทุกที ทำให้มีผลต่อต่อคุณภาพข้าวที่ส่งออก เพราะทำประกันราคาดีกว่า เพราะไม่ต้องมายุ่งกับสต็อกและราคาตลาด"นางสาวกอบสุข กล่าว

ส่วนผลจากการเริ่มใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)มาครบ 1 เดือน ขณะนี้ยังมองไม่เห็นผลกระทบที่ตามมา เนื่องจากมาตรการที่จะให้นำเข้าได้เฉพาะปลายข้าวก็เพิ่งจะเริ่มได้ไม่นาน ซึ่งก็ยังไม่เห็นมีรูปธรรมอะไรมากมาย ขณะที่การลักลอบนำเข้าข้าวจากเพื่อนบ้านซึ่งมีคุณภาพต่ำ ขณะนี้ก็ไม่ค่อยรุนแรงแล้ว อาจเป็นเพราะรัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ไม่มีพ่อค้าหัวใสลักลอบนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำเพื่อมาสวมสิทธิ

"ถามว่าตามแนวชายแดนยังม่การลักลอบนำเข้าข้าวอยู่หรือไม่ ก็ยังมีอยู่บ้างแต่ไม่รุนแรง ไม่ชัดเจนหรือเป็นปัญหายิ่งใหญ่เท่ากับช่วงที่มีการรับจำนำข้าว เพราะโครงการรับจำนำคือ ชาวบ้านไม่ได้ปลูกจริง หรือไม่ก็เอาข้าวจากที่อื่นมาสวมสิทธิ์ส่งผลต่อคุณภาพการส่งออกของข้าวไทย"นางสาวกอบสุข กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ