พณ.ไฟเขียวต่างชาติลงทุนในไทย 25 ราย กว่า 700 ลบ.ส่วนใหญ่ด้านระบบขนส่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้อนุญาตให้บริษัทต่างด้าวประกอบธุรกิจในไทยจำนวน 25 ราย ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจำนวน 739 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบการขนส่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้แก่ บริษัทซุนวู คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

บริษัทดีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช จากประเทศเยอรมนี ได้รับอนุญาตให้บริการให้คำปรึกษาด้านปฏิบัติการเดินรถในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ต เรล ลิงก์), บริษัทคอมฟอร์ท แมนเนจเม้นท์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ ประกอบธุรกิจบริการทางวิศวกรรมเกี่ยวกับการตรวจสอบ ออกแบบ และปรับปรุงระบบพลังงานภายในอาคารให้แก่ผู้ประกอบการที่มีอาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่ เป็นต้น

สำหรับปี 52 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจจำนวน 213 ราย ลดลง 21% เทียบกับปี 51 ที่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ 268 ราย แม้ว่าจำนวนผู้ได้รับอนุญาตในปี 52 จะลดลงจากปี 51 แต่การอนุญาตธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจที่เป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งต้องเป็นธุรกิจที่ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการไทยด้วย

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนมี.ค.43 ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จนถึงล่าสุดเดือนม.ค.53 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจไปแล้ว 2,394 ราย มีการนำเงินเข้ามาใช้ในประเทศเพื่อประกอบธุรกิจ 3.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามนโยบายของนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ได้กำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจตามกฎหมาย และให้มีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ