วิจัยกสิกรฯ คาดปี 53 CPI โต 3-4% ห่วงเงินเฟ้อเร่งตัวอาจกดดันการบริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ตามที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)ในเดือนม.ค.53 เร่งตัวขึ้นมาที่ 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 52 แต่เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว เห็นได้ว่าแนวโน้มค่าครองชีพมีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาพืชผลทางการเกษตรที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน รายได้ของภาคครัวเรือนที่พิจารณาจากอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในปี 53 ที่ปรับผลของเงินเฟ้อแล้ว อาจจะต่ำกว่าปี 52 ที่เงินเฟ้อมีอัตราติดลบ ซึ่งทิศทางดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาวะการบริโภคในปี 53 ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไปนั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลง แต่คงเป็นปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงระยะข้างหน้า จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 53

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ยังมีโอกาสที่จะหลุดออกจากกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อีกได้ในช่วงเดือน ก.พ.แต่คงเป็นเพียงระยะสั้น ก่อนที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะค่อยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2/53 ไปจนถึงสิ้นปี

"แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 มีโอกาสเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง อยู่ระหว่าง 3.0-4.0% จากที่ลดลงในปีก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.5% ยังเป็นระดับที่ไม่สูงจนเกินไป แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะค่อยๆ ส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ ในที่สุด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่สำคัญ ปัจจัยแรก คือ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสินค้าเกษตร และสินค้ากลุ่มโลหะ-พลังงาน โดยสินค้าเกษตรซึ่งราคาผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัจจัยหนุนด้านอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มโลหะ-พลังงานมีแนวโน้มผันผวนสูงในปีนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ คือ สหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งแกว่งตัวค่อนข้างมากในระยะเดือนที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สอง คือ ผลของ 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากมาตรการสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.นี้ อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นระหว่าง 3.4-4.0% ขณะที่หากรัฐบาลขยายมาตรการออกไปถึงเดือนมิ.ย. อัตราเงินเฟ้ออาจอยู่ในช่วง 3.2-3.8% แต่หากขยายมาตรการไปถึงเดือนก.ย.53 อัตราเงินเฟ้ออาจอยู่ในช่วง 3.0-3.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อระดับที่สูงอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ และยังไม่ส่งผลกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในระยะสั้น แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อภาคครัวเรือน ส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคในปีนี้อาจไม่ดีขึ้นกว่าปีก่อนมากนัก แม้ว่ารายได้จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

ทิศทางดังกล่าวทำให้คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนอาจฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1.5-2.6% ในปีนี้ จากที่คาดว่าจะหดตัว 1.2% ในปี 52 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในปี 52 ที่การบริโภคของภาคเอกชนเคยขยายตัวเฉลี่ย 3.7% (ระหว่างปี 47-51)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ