ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองมาตรการธปท.ผ่อนคลายเงินไหลออกไม่ส่งผลต่อค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการดูแลเงินทุนไหลออก เพื่อรับมือความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในวันนี้ นอกจากจะเป็นผลดีต่อภาคเอกชนในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นกลไกที่อาจช่วยสร้างสมดุลคอยบรรเทาผลกระทบที่ค่าเงินอาจได้รับในยามที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทในระยะอันใกล้นี้ คาดว่าจะยังคงถูกกำหนดโดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก โดยหากเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน หรือการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของทางการจีนแล้ว คาดว่าเงินบาทอาจยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปตามกระแสของค่าเงินในภูมิภาค ตลอดจนการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุผลกระทบจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ของ ธปท.ต่อทิศทางของค่าเงินบาทได้อย่างชัดเจน เนื่องจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 53 น่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ลดข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนขาออกดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความสมดุลให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าการผ่อนคลายเกณฑ์ในการดูแลเงินทุนไหลออกของธปท.ในรอบนี้ เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ที่เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณคุมเข้มทางการเงินของจีน ซึ่งสวนทางกับความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งสนับสนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่คาดหมายว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบของภูมิภาคเอเชีย อาจยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียและเงินบาทที่ค่อนข้างมีความสำคัญในระยะถัดไป นอกจากนี้ เงินบาทยังน่าจะมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากฐานะการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปีนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าไทยอาจบันทึกยอดเกินดุลการค้าต่อเนื่องในปี 2553 ประมาณ 9.0-11.8 พันล้านดอลลาร์ฯ

ผลของมาตรการล่าสุดของธปท.ยังทำให้การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของภาคธุรกิจเอกชนน่าจะมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากสภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในปี 53 อาจมีความผันผวนมากกว่าปีก่อน โดยความไม่แน่นอนในแนวโน้มเศรษฐกิจ และการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะเวลาการคุมเข้มนโยบายการเงินในแต่ละภูมิภาค น่าจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งก็อาจทำให้ทิศทางของค่าเงินไม่โน้มไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน เหมือนเช่นแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคในปี 52 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Unwind Hedging) กรณีค่าสินค้าและบริการ น่าจะเอื้อประโยชน์ในการลดต้นทุนการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยรวมของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าลง

ขณะที่สภาพตลาดการเงินและเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้นักลงทุนยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์/อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มวงเงินในการลงทุนต่างประเทศให้กับนักลงทุนดังกล่าว ก็อาจนับได้ว่าเป็นการเพิ่มความคล่องตัวให้กับนักลงทุนในการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นภายใต้ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ