ออโต้ดาต้า คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ของค่ายโตโยต้า มอเตอร์ ในตลาดสหรัฐ ร่วงลง 15.8% ในเดือนม.ค. แตะระดับ 98,796 คัน ทำสถิติร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากโตโยต้าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์เรียกคืนรถยนต์จำนวนมาก โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นที่ทำยอดขายได้ในระดับต้นๆ
โตโยต้าเริ่มดำเนินการเรียกคืนรถยนต์จำนวน 2.21 ล้านคันเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับยกเลิกการขายรถยนต์ 8 รุ่นที่มีชื่อเสียง รวมถึง Camry และ Corolla ในช่วงปลายเดือนม.ค. เพื่อแก้ไขปัญหาคันเร่งค้าง ซึ่งการยกเลิกการขายรถยนต์ 8 รุ่นนั้น คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของยอดขายทั้งหมดของโตโยต้าในตลาดสหรัฐ
ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้โตโยต้าถูกฟอร์ด มอเตอร์ เบียดขึ้นแซงหน้าเป็นค่ายรถยนต์ที่ทำยอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 โดยยอดขายรถยนต์ของฟอร์ดพุ่งขึ้น 24.4% ในเดือนม.ค. แตะที่ 112,149 คัน และทำให้โตโยต้าหล่นลงไปอยู่อันดับสามเมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐที่ลดลงเหลือ 14.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ส่วนอันดับหนึ่งยังคงเป็นของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ที่ทำยอดขายพุ่งขึ้น 14.6% แตะที่ 145,804 คัน ขณะที่ยอดขายของไครสเลอร์ กรุ๊ป แอลแอลซี ลดลง 8.1% แตะที่ 57,143 คัน
หากรวมยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของค่ายบิ๊กทรีในสหรัฐพบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้น 12.7% แตะที่ 315,096 คัน และหากรวมยอดขายของค่ายรถยนต์ทุกค่ายที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐพบว่า ยอดขายมีอยู่ทั้งสิ้น 698,346 คันในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 6.3%
ส่วนยอดขายรถยนต์สัญญาชาติญี่ปุ่นนั้น ฮอนด้า มอเตอร์ ทำยอดขายลดลง 5.0% มาอยู่ที่ 67,479 คัน ขณะที่ยอดขายจากค่ายนิสสัน มอเตอร์ เพิ่มขึ้น 16.1% แตะที่ 62,572 คัน ส่วนยอดขายของมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป เพิ่มขึ้น 1.8% แตะที่ 15,694 คัน ยอดขายของฟูจิเฮฟวี่ อินดัสทรี เพิ่มขึ้น 28.0% แตะที่ 15,611 คัน ขณะที่ยอดขายของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป หดตัวลง 11.8% แตะที่ 4,170 คัน และยอดขายของซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ป ลดลง 44.2% แตะที่ 2,040 คัน
นอกจากนี้ ออโต้ดาต้า คอร์ป ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ตลอดปี 2552 ในสหรัฐ ร่วงลง 2.8 ล้านคัน หรือมากกว่า 20% แตะที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.43 ล้านคัน ซึ่งน้อยกว่ายอดขายรถยนต์ในจีนที่ระดับ 12.23 ล้านคันในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.2552 ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกเป็นครั้งแรก
อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และวิกฤตการณ์การเงินโลกที่ส่งผลให้เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายในเวลาต่อมา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐยังถูกกระทบจากปัญหาด้านการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์ คอร์ป จนเป็นเหตุให้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากศาลล้มละลายของสหรัฐในปีที่แล้ว สำนักข่าวเกียวโดรายงาน