แอร์ ไชน่า ประกาศให้การสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินภายในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริษัทสัญชาติจีนก้าวขึ้นมาแข่งขันกับสองบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่ของโลกอย่างโบอิ้งจากสหรัฐ และแอร์บัสจากฝรั่งเศส
รองประธานอาวุโสของแอร์ ไชน่า ซึ่งเป็นสายการบินระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของจีนและเป็นสายการบินรายใหญ่ที่สุดของโลกในแง่มูลค่าการตลาดกล่าวว่า นอกเหนือจากแผนการสนับสนุนผู้ผลิตเครื่องบินจากจีนด้วยกันแล้ว ทางสายการบินมีแผนที่จะดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องบินที่มีขนาดเล็กลงมาเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน
โดยแอร์ ไชน่า อาจเพิ่มการสั่งซื้อเครื่องบินจากบริษัทผู้ผลิตภายในประเทศ จากเดิมที่ให้บริการผู้โดยสารด้วยเครื่องบินของโบอิ้งและแอร์บัสกว่า 200 ลำ ซึ่งแผนการดังกล่าวนับเป็นการสนับสนุนความพยายามของประเทศจีนในการพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินระดับโลก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความหวั่นเกรงให้กับผู้ผลิตเครื่องบินต่างชาติ เนื่องจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าแอร์ ไชน่าจะสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ 2,800 ลำในอีก 20 ปีข้างหน้า ภายใต้แผนการปลดระวางเครื่องบินราว 10 ลำในปีนี้ หลังจากที่ได้ใช้งานเครื่องบินส่วนใหญ่มานานกว่า 15 ปี
ทั้งนี้ คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ คอร์ป (Comac) ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายแรกของจีนคาดว่า ยอดขายเครื่องบินรุ่น C919 ขนาด 168 ที่นั่ง จะพุ่งสูงกว่า 2,000 ลำในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่าจะมียอดสั่งซื้อจากในประเทศราว 100 รายการภายในสิ้นปีนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การเดินทางโดยเครื่องบินในประเทศในจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้กว่า 10% ในปีนี้จากอานิสงส์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น แต่การเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศอาจจะชะลอตัว ท่ามกลางผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะขาลง