(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.หนุนยกระดับอุตฯยางไทย Industrial Cluster เพิ่มศักยภาพแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2010 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม(Industrial Cluster) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนเนื่องจากจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในคลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ จากยุทธศาสตรการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภาคเกษตรกรรม ยางพาราจัดเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 52 ประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปยางแผ่นดิบ มูลค่า 146,263 ล้านบาท ผลิตภัณยาง 152,800 ล้านบาท แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจและสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวเองเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและความอยู่รอดบนการแข่งขันเสรีทางการค้า รวมทั้งพัฒนาศักยภาพที่รวดเร็วของคู่แข่งในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หากสามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้จะช่วยผลักดันยอดส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้อีก 8-9 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีมูลค่าราว 5-6 แสนล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในภาพรวมช่วงไตรมาสแรกยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังดีอยู่ ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดจองจากต่างประเทศยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นการส่งออกในปีนี้น่าขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งจะช่วยผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 4% ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และสินค้าคงคลังของประเทศผู้นำเข้ายังมีอยู่มาก ซึ่งอาจจะมีผลต่อยอดคำสั่งซื้อให้ชะลอตัวลงได้

ด้านนายศิริชัย สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาแนวโน้มตลาดยางพาราและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ชะลอตัวลง ตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ภาครัฐและเอกชนจึงพยายามหามาตรการช่วยเหลือทั้งการเพิ่มศักยภาพการผลิตส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยาง ส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เพิ่มมูลค่ายางพารา โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกเดิมและตลาดส่งออกแห่งใหม่ที่มีศักยภาพ

"การดำเนินงานของผู้ประกอบการ นอกจากต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารต้นทุนพลังงานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์แล้ว การเตรียมความพร้อมด้านกลยุทธ์ และติดตามปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จึงเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและในตลาดโลก" นายศิริชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ