นายพรชัย รุจิประภาปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างประสานกับบมจ.ปตท.(PTT) เพื่อหาทางออกในการเดินหน้าโครงการโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 โดยจะยื่นข้อมูลให้กับอนุกรรมการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ(สผ.) เพื่อตีความว่าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงหรือไม่
ทั้งนี้ ทางปตท.มองว่าโครงการดังกล่าวน่าจะสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่อยู่ในข่ายที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรงจนถึงขั้นต้องระงับกิจการ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ จาก สผ.ก็คาดว่าโรงแยกก๊าซฯ 6 จะเปิดดำเนินการได้ในเดือน เม.ย.53
แต่หากมีการตีความว่าโรงแยกฯ 6 เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ก็จะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) รวมทั้งการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งขณะนี้ ปตท.ก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไปอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นายพรชัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานก็ได้วางมาตรการป้องกันปัญหาขาดแคลนก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ไว้แล้ว กรณีที่โรงแยกก๊าซฯ 6 ต้องล่าช้าออกไปมาก แต่ต้องยอมรับว่าไทยจะต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อโครงการผลิตปิโตรเคมีที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากโรงแยกฯ หน่วยที่ 6 ดังกล่าว
นายพรชัย กล่าวถึงกรณีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ บางคล้า ที่ขณะนี้ไม่สามารถทำอีไอเอได้ตามกำหนด และทางบริษัทเอกชนได้ขอหารือว่าจะเปลี่ยนพื้นที่และขยายระยะเวลาการทำอีไอเอ จากเดิมกำหนดการประกาศไอพีพีรอบที่ 2 ต้องส่งผลอีไอเอภายในปีนี้ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุดว่าทางกฎหมายจะสามารถทำตามคำร้องขอของเอกชนในการเปลี่ยนพื้นที่ได้หรือไม่ และควรดำเนินการอย่างไรต่อไป
โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ และติดปัญหาประชาชนในพื้นที่คัดค้าน จนผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งห้ามเอกชนดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น