ไทยเตรียมเจรจามาเลฯ มี.ค.นี้ร่วมรักษาระดับราคายาง 2,500-2,800 เหรียญ/ตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2010 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกยางพาราในการรักษาเสถียรภาพราคา โดยจะมีการเจรจากับมาเลเซียในเดือน มี.ค.นี้ หลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเจรจากับ รมต.เกษตรของอินโดนีเซีย เพื่อร่วมมือพยุงราคายางให้อยู่ที่ระดับ 2,500-2,800 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งคู่เจรจาก็รับปากว่าจะดำเนินการตามที่รัฐบาลไทยเสนอมา

นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญประเทศเวียดนามเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสภาความร่วมมือไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ หรือไอทีอาร์ซี ซึ่งถ้าทำได้จะสามารถควบคุมการผลิตยางได้จาก 70% เป็น 76% ของปริมาณการผลิตยางพาราในตลาดโลก และปริมาณส่งออกจะเพิ่มเป็น 95% จาก 84% ในปัจจุบัน

นายฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมในประเทศนั้น รัฐบาลได้สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ปลูกยาง 1-2 ล้านไร่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ อีสานและอื่นๆ คาดว่าผลผลิตยางล็อตแรกจะเข้าสู่ตลาดประมาณปี 54 นี้

ขณะที่นโยบายด้านกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(CESS) ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด คือ จะมีการปรับเพิ่มอัตราการเรียกเก็บเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราใหม่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการกลั่นกรองของ กนย. จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติใช้ ซึ่งคาดว่าจะปังคับใช้ได้ก่อน 31 ส.ค.53

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเมื่อมีการบังคับใช้แล้ว ก็น่าจะใช้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ตาม เพราะกองทุน CESS นี้มีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2503 เพิ่งจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2546 สมัยที่นายเนวิน ชิดชอบเป็น รมว.เกษตรฯ ดังนั้น มั่นใจได้ว่าเมื่อมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วจะไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงในเร็ววันแน่นอน

สำหรับประโยชน์ของกองทุน CESS คือ เป็นเหมือนกองทุนสวัสดิการให้เจ้าของสวนยางและแรงงานสวนยางพารา, เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยางพาราครบวงจรทั้งในด้านการแปรรูป, การผลิต และผลิตภัณฑ์และการตลาด, เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง, เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งในประเทศมีราคาถูกกว่าราคาในต่างประเทศ,

เป็นสื่อกลางในการจัดประชุม 3+3 ระหว่าง 3 ประเทศผู้ผลิต คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กับ 3 ผู้ใช้รายใหญ่ คือ บริดสโตน มิชิลน และกู๊ดเยียร์, เพิ่มปริมาณการใช้งานจาก 12% เป็น 24% ของยางพาราที่ผลิตได้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านตันต่อปี, ดำเนินการเจรจาในการได้รับเงิน Carbo Credit (เป็นเงินที่ได้จากการปลูกต้นยาง แล้วมันจะมีก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ขึ้นไปในอากาศซึ่งจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินในส่วนนี้)

"รัฐบาลยืนยันว่า นโยบายต่างๆที่ออกมาเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"นายฉัตรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ