(เพิ่มเติม) คลัสเตอร์แนะเร่งตั้งสถาบันวิจัยส่งเสริมอุตฯ ปลายน้ำเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2010 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ ประธานคลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. พยายามเร่งผลักดันยุทธศาสตร์คลัสเตอร์ยาง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้สามารถนำยางไปแปรรูปและสร้างมูลค่าในการส่งออกให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังมีข้อจำกัด หรือ จุดอ่อนทางด้านเทคโนโลยีอยู่มาก ดังนั้น จะต้องมีการเร่งจัดตั้งสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ยางขึ้น เพื่อดูแลอุตสหากรรมการผลิตขั้นปลายน้ำ โดยหวังว่าจะเห็นเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้

ปัจจุบัน ตลาดยางล้อในโลกมีประมาณ 1,100 ล้านเส้น/ปี แต่ไทยผลิตส่งออกได้เพียง 2% ทั้งๆที่เราเป็นเจ้าตลาดวัตถุดิบ ซึ่งการจะเพิ่มการผลิต มองว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่มี 2 เรื่องที่ไทยต้องทำในเวลานี้ คือ ชักจูงผู้ผลิต ให้เข้ามาลงทุนในไทย หรือเพิ่มกำลังผลิตในไทย แต่บรรยากาศการลงทุนไม่เอื้อ รัฐต้องมาช่วยในเรื่องบรรยากาศการลงทุน และ ช่วยผู้ประกอบการยางล้อไทยให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจยางล้ออยู่แล้วมีความเข้มแข็งและส่งออกได้มากขึ้น

"ทั้งๆ ที่ไทยเป็นมือ 1 ด้านต้นน้ำและกลางน้ำ แต่ยางล้อ ถุงมือยาง กลับแพ้มาเลเซีย สิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือ รัฐบาลต้องศึกษาว่า รัฐบาลมาเลเซีย มีการส่งเสริมอย่างไร ทำไมไทยถึงแพ้ แล้วนำข้อด้อยมาแก้จุดอ่อนของผู้ประกอบการไทย" นายประยงค์ กล่าว

นายชโย ตรังอดิศัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ส.อ.ท. กล่าวถึงการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางว่า การลดต้นทุนและการสร้างความแตกต่างเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยทุกระดับต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ ทั้งเรื่องการลดต้นทุน วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ คือ รัฐต้องช่วยรักษาเสถียรภาพราคาวัตถุดิบให้คงที่ เพราะถ้าราคาวัตถุดิบขึ้นๆลงๆ โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการกลัวมาก

"ทั้งนี้มองว่าในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ การสร้างความแตกต่างสำคัญมาก รูปลักษณ์ ดีไซน์ การออกแบบ เป็นเรื่องสำคัญกว่าการปล่อยให้สินค้าหน้าตาเดิมๆ รูปแบบเดิมๆอยู่ในตลาดได้ เพราะในตลาดจะมีคู่แข่งที่คอยพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาสู้อยู่เสมอ ถ้าหยุดนิ่งก็จะอยู่ในตลาดลำบาก"นายชโย กล่าว

นอกจากนี้ การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ซึ่งตอนนี้ยังมองไม่เห็นผลกระทบ แต่หากในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แล้วสินค้าไทยยังเป็นรูปแบบเดิมๆ จะยิ่งทำให้การแข่งขันในตลาดทำได้ยากลำบากมาขึ้น

นายชโย กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการคุณภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ปัจจุบันการได้รับเพียง ISO ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ อาจจะต้องคิดและพัฒนาเพื่อแสดงมาตรฐาน คุณภาพสินค้า และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เดือน พ.ย.53 นี้ ยุโรปและอเมริกาจะออกกฎระเบียบว่ายางที่จะส่งออกไปขายในยุโรปและอเมริกาจะต้องมีฉลากเหมือนฉลากประหยัดไฟ เนื้อหาบนฉลากต้องระบุถึงคุณภาพและความสามารถในเรื่องเสียง การเกาะถนน

บรรดาผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ อย่าง 3 บริษัทชั้นนำ คือ บริดสโตน มิชลิน และกู้ดเยียร์ต่างทราบเรื่องนี้ดี และมีการพัฒนาสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานอยู่เสมอ ทุ่มเทงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างเต็มที่ เช่น บริดสโตนใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ถึงปีละ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ, มิชลินใช้เงินประมาณ 778 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

หรืออย่างกรณีของประเทศมาเลเซียที่ผลักดันสินค้าถุงมือยางจนกลายเป็นที่ติดตลาดทั่วโลกแป็นผู้ส่งออกถุงมอยางเบอร์ 1 ของโลก ไทยเราก็ต้องนำมาเป็นตัวอย่างศึกษาว่าประเทศมาเลเซียทำอย่างไรและนำมาพัฒนาปรับปรุงผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นเจ้าตลาดทางด้านต้นน้ำและกลางน้ำ

ด้านนายสุทิน พรชัยสุรีย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ กล่าวว่า ปัญหาของธุรกิจโรงไม้คือ รัฐบาลต้องผลักดัน พ.ร.บ.สำหรับผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง โดยการแยกกฎหมายออกจาก พ.ร.บ.ป่าไม้อย่างชัดเจน เพราะมีหลายอย่างที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของธุรกิจไม้ยาง เพราะถ้าทำได้ ธุรกิจไม้ยางจะเติบโตด้วยตัวของมันเอง และจะเกิดอุตสาหกรรมไม้ยางพารา เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยที่แทบไม่ต้องมีการลงทุน

ขณะที่นายสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น กล่าวเสริมว่า กลุ่มไม้อัดจะให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งต้องใช้ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่นเป็นวัสดุหลัก ซึ่งถ้าวัสดุหลักมีมาตรฐานราคา มาตรฐานต้นทุนที่เหมาะสม มีมาตรฐานคุณภาพ หรือแม้แต่ในส่วนที่เป็นเศษวัสุดก็ต้องจัดการเรื่องราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทุกฝ่ายจึงจะอยู่ได้

ในส่วนของนางสาวกรภัคร์ มีสิทธิดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางกลุ่มมีการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างแบรนด์ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ โดยวัสดุที่นำมาใช้ไม่ได้มีแต่เฉพาะไม้ยางเท่านั้น แต่มองว่าสิ่งแวดล้อมทุกชนิดสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ เช่น นำไม้สักมาผสมไม้ยาง นำไผ่มาผสม นำดินมาผสม แต่ก็จำเป็นจะต้องมีการศึกษาข้อมูลของวัสดุเหล่านั้นอย่างดีว่า วัสดุชนิดใดนำมาใช้ได้หรือไม่ได้ วัสดุที่มีคุณภาพแต่ละชนิดมีแหล่งผลิตหรือแหล่งเพาะปลูกอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะได้มีผลต่อการคำนวณต้นทุนการผลิต

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกลุ่มฯกำลังดำเนินการพัฒนาสินค้าอย่างจริงจัง โดยได้มีการเสนอของบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งไปแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งงบฯผ่านแล้ว แต่ติดปัญหายังไม่มีการจ่ายให้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ