ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับหนี้สาธารณะและยอดขาดดุลงบประมาณของหลายประเทศในยุโรป รวมถึงกรีซ สเปน และโปรตุเกส รวมทั้งตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด ทำให้นักลงทุนแห่ถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูอัตราว่างงานและตัวเลขว่างงานเดือนม.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 1.15% เมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.3738 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 1.3898 ยูโร/ดอลลาร์ และทะยานขึ้น 0.96% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ 1.5745 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.5897 ปอนด์/ดอลลาร์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.63% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0657 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 1.0590 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่ดิ่งลง 2.26% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 88.910 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 90.970 เยน/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 2.06% แตะที่ 0.8646 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันพุธที่ 0.8828 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 2.79% แตะที่ 0.6872 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7069 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะและยอดขาดดุลของหลายประเทศในยุโรป รวมถึงกรีซ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนแห่ถือครองดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และเมื่อทางการสหรัฐเปิดเผยจำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ที่พุ่งขึ้นเกินคาด ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์มากขึ้นเพราะเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจที่ผันผวน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค.เพิ่มขึ้น 8,000 ราย แตะที่ 480,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ 460,000 ราย รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก ADP Employer Services ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านตลาดแรงงานในสหรัฐ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนในสหรัฐลดการจ้างงานลง 22,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.
กรีซที่กำลังหาทางระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณที่มีอยู่เกือบ 13% ของตัวเลขจีดีพี และสูงสุดที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ ประกาศมาตรการสร้างวินัยการเงินการคลังขั้นเฉียบขาด เพื่อพยุงให้กรีซรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน นอกจากนี้ กรีซยังถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P, มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือด้วย
ธนาคารกลางอังกฤษประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุด 0.5% เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเมื่อวานนี้ พร้อมประกาศระงับโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า 2 แสนล้านปอนด์ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่
ค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างหนัก หลังจากธนาคารกลางยุโรปประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ และนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรปเตือนว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนยังคงเผชิญกับภาวะเปราะบางและไม่แน่นอน
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลการจ้างงานซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราว่างงานเดือนม.ค.จะอยู่ที่ระดับ 10% อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) ประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 13,000 คน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวในปี 2553