นายมูเนโนริ ยามาดะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ(JCC) เปิดเผยผลกระทบจากปัญหาการชะลอการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ 48 บริษัท มีความกังวลถึงผลกระทบทางตรงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี, ก่อสร้าง, วิศวกรรม, เหล็กและอโลหะ และเครื่องจักร โดยมี 4 บริษัทอาจทบทวนแผนการลงทุนในไทย
ทั้งนี้ JCC เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ปัญหามาบตาพุด 3 ข้อ คือ ต้องการให้ผู้บริหารระดับสูงและรัฐบาลออกมาอธิบายเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหา พร้อมกำหนดรายละเอียดและแผนแก้ปัญหาให้ชัดเจน รวมทั้งต้องการให้ภาคบริหารและนิติบัญญัติ มีส่วนร่วมกำหนดแผนแก้ปัญหามาบตาพุด โดยมองว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อนักลงทุนญี่ปุ่นมากกว่าปัญหาการเมืองและการปิดสนามบิน
อย่างไรก็ดี นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินของไทย เพราะมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่นไว้แล้ว แต่ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ เพราะโครงการอยู่ในคำสั่งระงับลงทุนของศาล ส่วนการจะฟ้องร้องรัฐบาลไทยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
อนึ่ง ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO) และ JCC ได้จัดสัมมนาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากญี่ปุ่นมาให้ข้อมูลเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
ส่วนผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง 52 พบว่า สภาพธุรกิจโดยรวมเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 52 และคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 53
โดยดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจมีค่าเท่ากับ 40 แสดงถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นแม้การปรับตัวจะเป็นไปในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ยอดขายและกำไรในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่รวดเร็วและแรงเหมือนรูปตัว V
ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่น ยังมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยจากการสำรวจพบว่านักลงทุนญี่ปุ่น 48% หรือ 177 บริษัท จะขยายธุรกิจในประเทศไทยและไม่มีการย้ายฐานของธุรกิจ ส่วน 44% หรือ 162 บริษัท จะขยายธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้นโดยเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาธุรกิจของญี่ปุ่นในต่างประเทศ แต่จะเปลี่ยนการส่งออกไปยังอินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยในปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เสนอให้รัฐบาลไทยเร่งพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทางด้านศุลกากร, พัฒนาระบบภาษี, พัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพัฒนาเชื่อมโยงระบบสาธารณูโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น