นายศุภชัย โพธิ์สุ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2553 นี้ องค์การสวนยางได้รับอนุมัติให้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0% จากวงเงิน 8,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินงานโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน รวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยการซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่ไม่สามารถแปรรูป หรือ อัดก้อน หรือ ขายไปต่างประเทศ โดยใช้ราคานำตลาดเป็นครั้งคราว เพื่อให้ราคายางสูงขึ้นตามเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และมีเป้าหมายการเก็บสต๊อค จำนวน 120,000 ตัน และให้จำหน่ายไปต่างประเทศโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน
“ขณะนี้องค์การสวนยางได้รับเงินกู้จาก ธ.ก.ส.งวดแรกแล้ว จำนวน 1,500 ล้านบาท และจัดเตรียมระบบต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานตามโครงการฯเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ราคาตกต่ำ แม้ว่าขณะนี้ราคาซื้อยางแผ่นดิบโดยการประมูล ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่จะอยู่ที่ระดับ 92—95 บาท/กก.แล้วก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความต้องการให้ราคายางสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมีความเป็นอยู่ดีขึ้น"นายศุภชัย กล่าว
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เกิดประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้องค์การสวนยาง จัดการประชุมคณะกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพารา ครบวงจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อชี้แจงการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางฯ ประกอบด้วย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.หนองคาย จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ จ.สกลนคร และ จ.ขอนแก่น รวม 9 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาผู้นำเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนเพื่อร่วมหารือและชี้แจงการปฏิบัติงานของโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำตามมติคณะรัฐมนตรี
ปัจจุบันยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรมากกว่า 6 ล้านคน โดยในปี 2552 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศ 16.7 ล้านไร่ มีพื้นที่สวนยางกรีดได้ 11.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สวนยางกรีดได้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 715,000 ไร่ ให้ผลผลิต 197,000 ตัน
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2551 ถึงต้นปี 2552 ราคายางได้ตกต่ำ เกษตรกรขายยางแผ่นดิบได้ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณวงเงิน 8,000 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส. นำไปให้สถาบันเกษตรกรมีเข้าร่วมโครงการฯ กู้ในอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อซื้อยางจากสมาชิกแปรรูปและเก็บสต๊อค ประมาณ 200,000 ตัน