นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย.52 มีจำนวน 3,969,822 ล้านบาท หรือ 45.56% ของ GDP แยกเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,579,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,106,125 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 201,435 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 82,666 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะลดลง 23,311 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 4,416 ล้านบาท 8,161 ล้านบาท และ 13,516 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 2,782 ล้านบาท ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง
การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยลดลงสุทธิ 13,516 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการไถ่ถอนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันที่ครบกำหนด
สำหรับหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลงสุทธิ 4,416 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนด จำนวน 55,541 ล้านบาท และการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 37,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) ที่ครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 30,000 ล้านบาท โดยการทยอยออกพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552-มกราคม 2553 ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนได้ดำเนินการประมูลพันธบัตรไปแล้ว 8,000 ล้านบาท และนำเงินที่ได้จากการประมูลพันธบัตรดังกล่าวไปทยอยชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้เป็น Bridge Financing ในการปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลง 8,161 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 37,630 ล้านบาท และเบิกจ่ายเงินกู้ระยะยาว จำนวน 30,000 ล้านบาท
ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,782 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น หนี้สาธารณะ 3,969,822 ล้านบาท ยังแยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 389,117 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.80 และ หนี้ในประเทศ 3,580,705 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.20 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,656,033 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.10 และหนี้ระยะสั้น 313,789 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.90 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง