นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงปฏิบัติการฝนหลวงช่วงฤดูแล้ง ตามแผนปฏิบัติการปี 2553 ผ่านศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วย ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศว่า ได้เปิดหน่วยแรกไปแล้วที่ศูนย์ฯ ภาคใต้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยจะปฏิบัติการตามเป้าหมายในการเร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเป็นลำดับแรกไปจนถึงเดือนเมษายน และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในเดือนพฤษภาคม ตลอดจนบรรเทาฝนทิ้งช่วงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นจากความผันแปรของภาวะโลกร้อนในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม รวมถึงเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้สูงขึ้น เพียงพอกับความต้องการในฤดูแล้งถัดไปด้วย รวมถึงเตรียมพร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 375 เครื่อง ในพื้นที่ 24 จังหวัด แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด จำนวน 93 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 191 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก 5 จังหวัด รวม 66 เครื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันสถานการณ์ด้วย
ขณะนี้ได้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินกว่าเป้าหมายไปแล้ว คือ 5.64 ล้านไร่ จากที่ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 5.54 ล้านไร่
ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว 10.33 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 8.80 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก 1.53 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งหมด
ส่วนผลการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จนถึงปัจจุบันได้จัดสรรน้ำไปแล้ว 10,240 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนการจัดสรรน้ำทั้งหมดจำนวน 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงการปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว รวมถึงกำหนดการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน เนื่องจากการจ่ายน้ำจะต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งต้องมองไปถึงอนาคตที่จะต้องมีน้ำสำรองไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูฝนและฤดูแล้งปีถัดไป