"โสภณ"สนบางกอกแอร์ฯเสนอบริหารสนามบินภูมิภาค แต่ขอให้รายอื่นแข่งขันด้วย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 5, 2010 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสนใจกับกรณีที่สายการบินบางกอกแอร์เวยส์เสนอตัวเข้ามาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่งที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการบินพลเรือน และพร้อมจะจัดให้มีเที่ยวบินเพื่อทำการบินไปยังทุกท่าอากาศยาน โดยระหว่างนี้จะขอหารือในรายละเอียดก่อน และคาดว่าจะต้องประกาศเชิญชวนเอกชนรายอื่นให้เข้ามาแข่งขันด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งภาครัฐและประชาชน

"กระทรวงคมนาคมให้ความสนใจกรณีที่เอกชนจะเข้ามาบริหารท่าอากาศยาน เพื่อที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่ให้เป็นสนามบินร้างเหมือนปัจจุบัน แต่ข้อเสนอของสายการบินบางกอกแอร์เวยส์นั้น เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นคงต้องหารือกันในรายละเอียดและรูปแบบการดำเนินงานก่อน" รมว.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้ การให้เอกชนเข้ามาบริหารท่าอากาศยานของกรมการบินพลเรือนนั้น จำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากไม่ขัดต่อกฎหมายก็จะเริ่มดำเนินการทันที แต่หากติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมด้านการบินก็จะแก้ไขกฎหมาย นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายส่งเสริมให้สายการบินจัดเส้นทางบินภายในประเทศที่แน่นอน และจะให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ในการบิน เช่น การลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงและการจอดอากาศยาน (LANDING & PARKING FEE) รวมทั้งค่าธรรมเนียมการจัดการจราจรทางอากาศ

อนึ่ง ท่าอากาศยานของกรมการบินพลเรือนทั้ง 28 แห่ง มีท่าอากาศยาน 10 แห่งที่ไม่มีเที่ยวบินประจำ คือ ท่าอากาศยานชุมพร, ระนอง, เพชรบูรณ์, เลย, ตาก, นครราชสีมา, สุรินทร์, น่าน, แม่สะเรียง และร้อยเอ็ด

ส่วนกรณีที่ บมจ.การบินไทย(THAI) จะยกเลิกเที่ยวบินใน 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพ-อุบลราชธานี และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน โดยให้สายการบินนกแอร์มาทำการบินแทนในวันที่ 1 มี.ค.นั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้การบินไทยไปจัดทำรายละเอียดต้นทุนการให้บริการของทั้ง 3 เส้นทาง รวมทั้งเส้นทางอื่นๆ ที่เตรียมจะยกเลิกบินด้วย เช่น สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี และอุบลราชธานี โดยให้นำข้อมูลมาเสนอให้นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 10 ก.พ.

"ที่ประชุมมีความคิดเห็นต่างกันถึงการยกเลิกเที่ยวบินในประเทศของการบินไทย โดยการบินไทยระบุว่าขาดทุน แต่ภาคเอกชนเห็นว่าการบินไทยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารสูงถึง 80% ทำไมถึงขาดทุน ดังนั้นการบินไทยจะต้องทำรายละเอียดต้นทุนมาให้พิจารณา เพื่อจะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ว่าจะมีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร" นายโสภณ กล่าว พร้อมยืนยันว่า การดำเนินงานดังกล่าวไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงการทำงานของการบินไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ