นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดที่พลิกผันง่ายที่จะเกิดทั้งโอกาสหรือความเสี่ยงขึ้น ดังนั้นไทยควรใช้โอกาสจากความร่วมมือของอาเซียนที่เป็นศูนย์รวมการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ และใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาประเทศผ่านเวทีอาเซียน
"ประเทศไทยอยู่ในจุดพลิกผัน ทั้งในแง่โอกาสความเสี่ยง และโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากอาเซียน...ขณะนี้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอนาคตทางการค้าและกระแสทุนที่มาบรรจบกัน ซึ่งรวมถึงไทยเคยเป็นเสาหลักอาเซียน จึงน่าจะสามารถดึงพลังทั้งมวลมาใช้ประโยชน์ได้" นายสมคิด กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มองข้างหน้าเพื่ออนาคต ในมุมมองสมคิด" ในงานโพสต์ทูเดย์ อินเวสเมนท์ เอ็กซ์โป 2010
ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้า แม้ไทยจะมองเห็นโอกาสแต่จำเป็นต้องต่อยอดความรู้ ทั้งการออกแบบ และการเพิ่มมูลค่า อีกทั้งควรใช้จังหวะนี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในหลายอุตสาหกรรมของโลก อย่างไรก็ดี จากโอกาสที่เปิดกว้างแต่ สถานการณ์ในประเทศกลับไม่เอื้ออำนวย ทั้งปัญหาเก่าและเงื่อนไขใหม่ที่สะสม ไทยจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศกลับไปสู่วิกฤติปี 40
"แม้จะมีโอกาสเปิดกว้างขึ้น แต่สถานกาณ์ในประเทศก็ไม่เอื้อ ทั้งเรื่องเดิมที่สะสม และเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น ดังนั้นควรต้องใช้ความระมัดระวังมาก เพื่อให้ไทยใช้เงื่อนไขที่มีอยู่ให้ก่อประโยชน์และหลีกเลี่ยงไม่ให้ไทยกลับไปสู่ปี 40 อีก" นายสมคิด กล่า
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาและจากนี้ต่อไปข้างหน้า ยังมีหลายตัวแปรที่ไทยต้องให้ความสำคัญและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะตัวแปรนื้จะทำหน้าที่กำหนดอนาคตประเทศไทย ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะหากเสียหายก็ยากที่จะฟื้นฟู โดยขณะนี้ภาพของไทยในสายตาต่างชาติมีแต่ความขัดแย้ง สังคมขาดระเบียบกฎเกณฑ์ ภาครัฐอ่อนแอขาดเสถียรภาพ และพร้อมปะทุความรุนแรงทุกเมื่อ โดยเฉพาะความรุนแรงใน 4 จังหวัดใต้, การปิดสนามบิน, การข่มขู่ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)
สิ่งเหล่านี้ถูกมองเป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่จะตามมาอีกในอนาคต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เข้าใจว่ารัฐบาลอาจบริหารและปกครองประเทศไม่ได้ และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ เสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องรักษากฎหมาย สร้างความยุติธรรม และธรรมภิบาลให้เกิดขึ้น รวมทั้งมีผู้บริหารของประเทศที่เป็นที่ไว้วางใจ น่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในภาวะที่ประเทศมีความไม่แน่นอนสูง โดยรัฐบาลต้องแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เช่นกรณีมาบตาพุดที่เป็นปัญหาใหญ่และอาจทำให้มีปัญหาอีกหลายอย่างตามมา ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ระบบการเมืองไทยไม่ให้ความสำคัญกับการคัดสรร แต่งตั้งบุคลากรของชาติ โดยไม่คำนึงว่าทำงานได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ความเชื่อมั่นของประเทศเสียหายไปมากพอสมควรแล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้คืนกลับมา
ทั้งนี้ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี แต่ไทยกลับละเลยเรื่องการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาชนบท และไม่ได้สร้างความหลากหลายของภาคบริการให้เกิดขึ้นในประเทศ นอกจากนี้ควรสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดในประเทศ โดยเร่งแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบท เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาของไทยเป็นการพัฒนาแบบรวมศูนย์กลาง ไม่ได้พัฒนามาจากชนบท จึงอยากจะฝากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือให้เข้มแข็ง เช่น การจัดทำเว็บไซต์รวบรวมความรู้ทุกแขนง เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยจำลองในระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงรัฐบาลต้องเร่งดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้มีมิตรประเทศสนับสนุนไทยในเวที G20 ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ