นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 53 จะขยายตัวเป็นบวกมากกว่าคาดการณ์ เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วมาก มั่นใจว่าตัวเลขส่งออกที่เคยติดลบ 2 หลักจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 2 หลักได้ รวมทั้งการใช้กำลังการผลิต การจัดเก็บรายได้ และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าขณะนี้กำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวอย่างชัดเจน
"จากสภาวะที่เคยติดลบ 7.1% (ไตรมาส 1/52) ไตรมาสแรกปีนี้จะเห็นตัวเลขเป็นบวกแน่นอน และค่อนข้างสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้"นายอภิสิทธิ์ กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ"มองข้างหน้า เพื่ออนาคต"ในงาน POSTTODAY INVESTMENT EXPO'2010
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แต่ทั้งนี้รัฐบาลจะไม่อยู่บนพื้นฐานความประมาท เพราะยังมีความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัจจัยราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจโลกทั้งในสหรัฐและจีนที่ยังมีปัญหาอยู่ รวมถึงปัญหามาบตาพุดและปัญหาด้านการเมืองที่ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ประเทศไทยยังถือว่าโชคดีที่ระบบเศรษฐกิจยังอยู่บนพื้นฐานที่ดี
สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลในอนาคตข้างหน้าจะดำเนินภายใต้นโยบายระยะกลางและระยะยาว และเมื่อมองถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ นายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจว่า ภาคเอกชนจะกลับเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ คือ การปรับแผนมาตรการเศรษฐกิจ(Exit Strategy) และมั่นใจว่าเมื่อรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าก็อาจจะนำมาสู่การทบทวนแผนการกู้เงิน 8 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเคยตั้งเอาไว้
"สิ่งที่รัฐบาลจะทำ คือ การปรับแผนมาตรการเศรษฐกิจ ผมมั่นใจว่าหากปีนี้รัฐบาลได้ทำ Exit Strategy เมื่อรัฐบาลจัดเก็บรายได้ตามเป้านั่นหมายถึงการกู้เงินทั้งสิ้น 8 แสนล้านฯ จะจำเป็นหรือไม่" นายกฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การนำประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะต้องไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ และจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินหน้าลงทุนภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะมีการจัดการระบบสาธารณะ และปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการค้าขายและการลงทุน
ภายใน 1 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะพัฒนาปรับปรุงระบบการขนส่งระบบราง จากที่เคยเน้นเฉพาะในกรุงเทพฯ ไปสู่ทั่วประเทศ โดยยกตัวอย่างว่า การเดินทางด้วยรถไฟจะเปลี่ยนจากความเร็ว 50 กม./ชม.ไปสู่ 120 กม./ชม. พร้อมกันนั้น จะมีการทบทวนการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการบิน รวมถึง การพัฒนาระบบขนส่งทางเรือ โดยรัฐบาลจะปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง และลดบทบาทท่าเรือคลองเตย เพื่อนำไปสู่แผนการพัฒนาผังเมืองใน กทม.ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำให้เกิดความชัดเจนให้ได้ภายในปีนี้เพื่อนำไปสู่การลงทุน ด้านการเงิน การคลังในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระบบภาษีและสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นภาษีศุลการ ภาษีเงินได้ รวมถึงภาษีทรัพย์สิน และที่ดินที่รัฐบาลจะเร่งนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนนโยบายจากเศรษฐกิจคู่ขนานให้เป็นเศรษฐกิจที่อิงกับนโยบายและกลไกตลาด โดยให้ทุกคนเข้ามเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหลักด้วยกัน
ในส่วนของปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยรัฐบาลจะคำนึงถึงการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม วิถีการใช้ชีวิตของชุมชุมนำมาเป็นหลักในการประเมินและกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาการทำงานของรัฐบาลต่อไป
แต่สิ่งสำคัญ คือ ปัจจัยด้านการเมือง ยังถือว่าเป็นความลำบากในการบริหารจัดการ หากการเมืองมีเสถียรภาพจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจะนำกระแสพระราชดำรัสวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมามาเป็นเข็มทิศในการเดินหน้าการทำงานของรัฐบาล และเชื่อว่าคนไทยด้วยกันไม่ต้องการเห็นความรุนแรง หรือวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ และทุกคนคงไม่อยากเห็นคนไทยมาทะเลาะเบาะแว้งกันเอง
"ในสภาวะการณ์ขณะนี้ รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ต้องต่อสู้กับใคร แต่รัฐบาลจะทำหน้าที่ในการรักษากฏหมาย รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเพื่อความสงบสุขต่อไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว