(แก้ไข) นายกฯ พร้อมปูทางทุกด้านรับการลงทุน แจงมาบตาพุดไม่ได้เกิดจากเปลี่ยนนโยบายรบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2010 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความมั่นใจกับนักธุรกิจญี่ปุ่นต่อโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และพร้อมอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ซึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านแล้ว ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม, ด้านสุขภาพอนามัย, การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการจัดตั้งองค์การอิสระ

"ผมมั่นใจว่าการดำเนินการ ณ ขณะนี้มีแนวทางที่ชัดเจน ขอยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างงานและรายได้ต่อไป แต่จะเคารพสิทธิของประชาชนในพื้นที่ และคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กันไปด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา "ประวัติศาสตร์เรื่องสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 20 และการดำเนินการป้องกันมลพิษของญี่ปุ่น" ที่จัดขึ้นโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการแปลงนโยบายรัฐบาล แต่เกิดจากการตีความและการบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 50 โดยแนวทางการแก้ปัญหานั้นรัฐบาลได้ออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของกฎหมายดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่มาบตาพุดควบคู่กันด้วย

โดยขณะนี้รัฐบาลได้รวบรวมเอกสารเพื่อส่งให้ศาลปกครองได้พิจารณาทบทวนโครงการต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อให้ยกเว้นหรือปลดออกจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เดินหน้าการก่อสร้างโรงงานไปก่อนได้โดยที่ยังไม่เปิดเดินเครื่องการผลิต รวมถึงการที่รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ OSOS เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้แก่โครงการในพื้นที่มาบตาพุด

นายกรัฐมนตรี ยังได้ชื่นชมการจัดการและการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นประเทศต้นแบบในภูมิภาคเอเชีย อันมีส่วนช่วยให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถเก็บเกี่ยวนำบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาและเป็นแนวทางให้สอดคล้องในการพัฒนาและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่รวมถึงความสมดุล ความยั่งยืน และความเป็นธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ