นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความมั่นใจกับนักธุรกิจญี่ปุ่นต่อโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และพร้อมอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ซึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านแล้ว ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม, ด้านสุขภาพอนามัย, การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการจัดตั้งองค์การอิสระ
"ผมมั่นใจว่าการดำเนินการ ณ ขณะนี้มีแนวทางที่ชัดเจน ขอยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างงานและรายได้ต่อไป แต่จะเคารพสิทธิของประชาชนในพื้นที่ และคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กันไปด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา "ประวัติศาสตร์เรื่องสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 20 และการดำเนินการป้องกันมลพิษของญี่ปุ่น" ที่จัดขึ้นโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการแปลงนโยบายรัฐบาล แต่เกิดจากการตีความและการบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 50 โดยแนวทางการแก้ปัญหานั้นรัฐบาลได้ออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของกฎหมายดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่มาบตาพุดควบคู่กันด้วย
โดยขณะนี้รัฐบาลได้รวบรวมเอกสารเพื่อส่งให้ศาลปกครองได้พิจารณาทบทวนโครงการต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อให้ยกเว้นหรือปลดออกจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เดินหน้าการก่อสร้างโรงงานไปก่อนได้โดยที่ยังไม่เปิดเดินเครื่องการผลิต รวมถึงการที่รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ OSOS เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้แก่โครงการในพื้นที่มาบตาพุด
นายกรัฐมนตรี ยังได้ชื่นชมการจัดการและการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นประเทศต้นแบบในภูมิภาคเอเชีย อันมีส่วนช่วยให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถเก็บเกี่ยวนำบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาและเป็นแนวทางให้สอดคล้องในการพัฒนาและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่รวมถึงความสมดุล ความยั่งยืน และความเป็นธรรม
นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ประสานการบริการนักลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ(OSOS) กำลังรวบรวมข้อมูลของภาคเอกชนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด ทำสำนวนส่งคำร้องต่อศาลปกครองอนุญาตให้โครงการดังกล่าวสามารถเดินหน้าการก่อสร้างได้ โดยคาดว่าจะสามารถส่งข้อมูลทั้งหมดได้อย่างช้าในวันพรุ่งนี้(9 ก.พ.) ซึ่งนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม จะเป็นผู้ยื่นเรื่องเอง
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลเร่งแก้ปัญหามาบตาพุดโดยเฉพาะการเร่งออกมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ทั้งนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยมั่นใจว่านักลงทุนญี่ปุ่นขณะนี้ส่วนใหญ่ ยังคงไม่ย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น เนื่องจากมองว่าไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี
แต่สำหรับนักลงทุนใหม่ ยอมรับว่า อาจมีการเปรียบเทียบการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศอื่น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาให้จบโดยเร็ว โดยเฉพาะการนำมาตรา 67 วรรค 2 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกเป็นกฎหมายมาเป็นแนวทางปฎิบัติโดยเร็ว
ขณะที่นายมุเนโนริ ยามาดะ ประธานเจโทร กล่าวว่า หลังจากได้ทราบแผนงานของรัฐบาล เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจในการแก้ปัญหามาบตาพุด ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของการตีความข้อกฎหมาย ซึ่งภาคเอกชนก็พร้อมปฎิบัติตามกรอบกฎหมายไทยอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในนิคมอุตสหากรรมมาบตาพุดคิดเป็นสัดส่วน 1ใน 3 ของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ให้แล้วเสร็จ
นายเคียวจิ โคะมะจิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น คือการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยยังได้นำเกณฑ์ที่เข้มงวดของญี่ปุ่นมาปฎิบัติใช้ในไทยด้วย ซึ่งยอมรับว่าหลักเกณฑ์ของไทยแตกต่างกับญี่ปุ่นมาก แต่ไทยก็สามารถเรียนรู้บทเรียนของญี่ปุ่นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้