เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อคืนนี้ โดยเบอร์นันเก้เปิดเผยแผนการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมโดยตรงจากเฟด ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานจะส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคเอกชนของสหรัฐมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นด้วย
การเปิดเผยแผนการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเบอร์นันเก้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของเฟดในช่วงที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. เบอร์นันเก้ได้ประกาศปิดโครงการจัดหาสภาพคล่องฉุกเฉินบางส่วน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดหาสภาพคล่องในตลาดเงิน, ดีลเลอร์ค้าตราสารหนี้ และธนาคารกลางต่างชาติ นับเป็นหนึ่งในห้านโยบายหลักๆของเบอร์นันเก้ที่จะรักษาดุลบัญชีของเฟด เพื่อให้เฟดมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เบอร์นันเก้กล่าวว่า การที่เฟดตัดสินใจเปิดเผยแผนการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ก็เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วสุดในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวในอัตรา 5.7% ต่อปี ซึ่งทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี ข้อมูลบ่งชี้เช่นนี้ทำให้เฟดตัดสินใจชะลอการเข้าซื้อหลักทรัพย์และตราสารหนี้ และปล่อยให้โครงการซื้อหลักทรัพย์สิ้นสุดลงภายในไตรมาสแรกของปี 2553
นอกจากนี้ เฟดยังได้ปิดวงเงินสว็อปสภาพคล่องไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ย้ำว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวอย่างยั่งยืน
"แผนการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟดนั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่าเฟดจะคุมเข้มเรื่องการปล่อยเงินกู้ภาคครัวเรือนและภาคเอกชน และไม่ต้องการให้ตลาดตีความว่าเฟดกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในอนาคต นโยบายของเฟดยังคงเป็นไปตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ที่มีขึ้นในการประชุมเดือนม.ค." เบอร์นันเก้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ
นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า แม้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐจำเป็นต้องอาศัยนโยบายการเงินแบบผ่อนปรน แต่ในบางด้านนั้น เฟดเล็งเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคุมเข้มด้านการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
การประกาศแผนถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเบอร์นันเก้ส่งผลให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ แต่ช่วยหนุนสกุลเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย