นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้า และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องให้ตรึงราคาจำหน่ายสินค้าไปจนถึงเดือน มี.ค.53 เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว จึงจำเป็นต้องดูแลไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน และป้องกันไม่ให้กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในปี 53 มากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม หากพบว่า ต้นทุนการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้นมากนักก็อาจให้ตรึงราคาต่อเนื่องจนถึงสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้
"เท่าที่ดูตอนนี้ ต้นทุนการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ราคาน้ำมันก็ยังเพิ่มไม่มาก ก็ขอให้ตรึงราคาจนสิ้นไตรมาส 1 แต่จะขอดูเป็นรายไตรมาส โดยไตรมาส 2 หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนการผลิตไม่เพิ่ม ราคาวัตถุดิบไม่เพิ่ม และราคาน้ำมันไม่เพิ่มมากนัก ก็คงไม่ให้ปรับขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่มาคุยวันนี้ก็รับได้" นางพรทิวา กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานทั่วไปออกจำหน่ายในปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะหมวดของใช้ประจำวันที่มักปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต หรือหากปรับลดขนาดบรรจุลงก็ต้องปรับลดราคาลงให้สอดคล้องกันด้วย ขณะเดียวกันยังได้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าเป็นพิเศษให้เป็นแหล่งกระจายสินค้าเกษตรที่อาจจะมีปัญหาด้านราคา เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ กุ้ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านราคา และผลผลิตล้นตลาด
ด้าน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ กระทรวงจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ให้ตัดสิทธิ์การใช้น้ำตาลทรายโควตา ค เป็นเวลา 5 ปี จากเดิมที่จะเสนอ 3 ปี หากมีการใช้น้ำตาลโควตา ค ไม่ถึงปริมาณที่กำหนด หรือใช้น้อยกว่า 70% ต่อปี หรือไม่มีการใช้เลย
เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการนำโควตาน้ำตาลทรายผลิตเพื่อส่งออก(โควตา ค) มาใช้แทนโควตาน้ำตาลบริโภคภายในประเทศ(โควตา ก) มากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่ามาก
พร้อมกันนี้ จะขอให้ กอน.จัดสรรน้ำตาลโควตา ก งวดสุดท้าย 4-5 แสนตัน มาให้กระทรวงพาณิชย์เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดภาวะตึงตัว
"ปัญหาน้ำตาลอยู่ที่การแย่งใช้โควตา ก ซึ่งไม่ถูกต้อง หากพบก็จะถูกตัดสิทธิ ตรงนี้ก็ต้องวัดกันไปเลย เพราะภายในเวลา 5 ปี ที่ถูกตัดสิทธิ หากราคาน้ำตาลตลาดโลกลดลงมาอุตสาหกรรมที่ถูกตัดสิทธิก็ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องใช้โควตาในส่วนนี้" น.ส.ชุติมา กล่าว