นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการพิจารณาทบทวนการใช้มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่จะถึงกำหนดสิ้นสุดมาตรการในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว ขณะนี้จะต้องให้ความสำคัญต่อการรักษาวินัยการเงินการคลัง และยังต้องดูถึงความเป็นธรรมต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับมาตรการยกเว้นภาษีส่วนนี้ด้วย
"รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลังและความศักดิ์สิทธิ์ของนโยบาย ซึ่งหากมีนโยบายที่สามารถตอบโจทย์ได้เราก็ต้องคงความเด็ดขาด ถ้าโจทย์เปลี่ยนไปหรือนโยบายแก้ได้แล้วก็ต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกมาตรการเพื่อรักษาวินัย ไม่ใช่เอาใจทุกคน"นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ ยังเห็นว่า แม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลยังจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องในปี 53 และ 54 แต่ในปีงบประมาณ 54 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณการ น่าจะส่งผลให้มีการใช้เงินนอกงบประมาณน้อยลง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังพร้อมกู้เงินต่างประเทศเพื่อใช้ในการลงทุน โดยได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วหากการลงทุนของภาครัฐต้องมีการนำเข้าสินค้าที่ใช้เงินตราต่างประเทศ
รมว.คลัง กล่าวในหัวข้อ"นโยบายการคลังกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ"ในการสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 53"ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 3-5%
แต่ยอมรับว่ายังมีความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวได้เพียงระดับหนึ่ง เหมือนในช่วงไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจปี 41 โดยรัฐบาลสหรัฐต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงิน แต่ปัญหาการว่างงานต้องใช้เวลาแก้ไข ขณะที่ยุโรปยังมีปัญหาต่อเนื่อง การขาดความมั่นใจเกี่ยวกับเสถียรภาพการคลังของหลายประเทศในยุโรป
ในส่วนของไทย เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีความมั่นคงมากขึ้น เห็นได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นปีละ 20,000 ล้านดอลลาร์ ระดับหนี้สาธารณะอยู่ระดับ 45%ของจีดีพี แม้จะสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่อยู่ระดับต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ไทยเน้นการกู้เงินในประเทศมากกว่าการกู้เงินต่างประเทศ แต่ระดับหนี้สาธารณะกว่า 4 ล้านล้านบาทที่มีระยะเวลาชำระคืนหนี้เฉลี่ย 5 ปี ถือว่าสั้น ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมการยืดอายุการชำระคืนหนี้เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการคลัง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงต้องมีบทบาทในการผู้นำในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้รัฐบาลยังคงนโยบายการขาดดุลงบประมาณต่อไปอีก 1-2 ปีในปีงบประมาณ 53-54
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังกำลังเตรียมการจัดทำแผนงบประมาณระยะยาว 5-10 ปี เพื่อเตรียมการคาดการณ์งปบระมาณในระยะยาว พิจารณาว่าจะใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณได้อีกนานแค่ไหน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอนาคต ขณะเดียวกัน จะมีการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในด้านการลงทุนมากขึ้น มีการปฎิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิในการลงทุน หลังจากพบว่าที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนที่บกพร่องมาก
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 54 รัฐบาลวางกรอบประมาณการจัดเก็บรายได้จำนวน 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 52 จำนวน 3 แสนล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ทำให้ความสามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น ขณะที่แผนการลงทุนภาครัฐในโครงการไทยเข้มแข็งจะใช้เงินจากเงินประมาณมากขึ้น โดยความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อลงทุน ตาม พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะลดลง
รมว.คลัง ยังกล่าวให้ความเห็นถึงการลดค่าเงินดองของเวียดนาม ครั้งที่ 2 ว่า จะไม่กระทบต่อความสามารถการแข่งขันของไทย ซึ่งเคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าเวียดนามคงต้องมีการลดค่าเงินอีกหลังจากเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาได้มีการลดค่าเงินไปแล้วครั้งแรก และเชื่อว่าเวียดนามมีแนวโน้มที่จะลดค่าเงินลงอีกในอนาคต
"ภาพรวมไม่มีประเด็นที่น่ากังวล และหวังว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะกลับมามีเสถียรภาพอีก เพราะเวียดนามเป็นสมาชิกอาเซียน การกลับมาเข้มแข็งเพื่อให้กลุ่มอาเซียนเดินหน้าต่อไปเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"รมว.คลัง กล่าว