วิกฤตหนี้สาธารณะและปัญหายอดขาดดุลบัญชีในประเทศกรีซยังคงสร้างแรงกดดันให้กลุ่มประเทศยุโรปออกมาตรการช่วยเหลือที่ได้ผล ขณะนักลงทุนตั้งความหวังรัฐมนตรีคลังยุโรปจะกำหนดแผนการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐมนตรีคลังยุโรปได้เข้าประชุมกันท่ามกลางแรงกดดันจากนักลงทุนที่หวังให้การประชุมดังกล่าวได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยให้กรีซรับมือกับวิกฤตขาดดุลงบประมาณและปัญหาหนี้สาธารณะที่มีสัดส่วนสูงถึง 12.7% ต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในปี 2552
โดยนักลงทุนต้องการความชัดเจนจากการประชุมดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถมั่นใจได้ว่า กรีซจะสามารถควบคุมปัญหาหนี้สาธารณะได้ แม้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำชาติยุโรปให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือกรีซ แต่นักลงทุนยังคงต้องการทราบรายละเอียดมากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากกรีซแล้ว นักลงทุนยังจับตาด้วยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปจะมีการทำข้อตกลงให้ความช่วยเหลือแก่โปรตุเกส และสเปนหรือไม่ เนื่องจากสองประเทศกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน โดยโปรตุเกสมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณในสัดส่วน 9.3% ของจีดีพี ส่วนสเปนกำลังเผชิญปัญหายอดคนตกงานที่สูงสุดในกลุ่มประเทศยุโรป นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะถดถอยเมื่อไตรมาสที่ผ่านมาและมียอดขาดดุลบัญชีถึง 11.4% ของจีดีพีในปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินในกรีซเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่ดิ่งลงไป 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในเขตยูโรโซน
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ทั่วโลกกำลังมองหาแนวทางรับมือกับวิกฤตการณ์อื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสิ่งที่ทั่วโลกต้องการมากที่สุดคือ ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมจากประเทศหลักๆที่ออกเงินกู้ให้กรีซนำไปใช้ในการชำระหนี้และอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในงบดุลบัญชี
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปมีขึ้นหลังจากที่นางแองเจล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีให้ความมั่นว่าจะกำหนดมาตรการช่วยเหลือกรีซเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อช่วยกรีซแก้ปัญหายอดขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ในยุโรป แต่ทว่ายังไม่มีรายละเอียดที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะดำเนินการกับหนี้สิ้นเหล่านี้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดกันว่า กรีซอาจได้รับความช่วยเหลือในส่วนของการค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการระดมเงินช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ