นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเรียกคืนที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีที่ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านไร่ว่า ล่าสุดกรมธนารักษ์สามารถเรียกคืนที่ดินราชพัสดุจากหน่วยงานต่างๆ ได้แล้วทั้งสิ้น 8 แสนไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการได้แล้ว 3 แสนไร่ ส่วนที่เหลืออีก 5 แสนไร่ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งทางกรมฯ คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถเรียกคืนที่ดินราชพัสดุได้เพิ่มเติมอีก 2 แสนไร่ ซึ่งจะทำให้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน
สำหรับโครงการนำที่ดินราชพัสดุมาสนับสนุนการปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน หรือโครงการ 1 ล้านไร่ มิติใหม่ที่ราชพัสดุนั้น รัฐบาลมีนโยบายเรียกคืนที่ดินราชพัสดุจากส่วนราชการที่ครอบครองไว้เกินความจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรในราคาถูก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพืชอาหารและพลังงาน แก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกรซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนต้นกล้าสำหรับพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานที่มีสายพันธุ์ดี ส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรอย่างมีคุณภาพ และช่วยเพิ่มมูลค่าและพัฒนาการใช้พื้นที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
อธิบดีกรมธนารักษ์ ยังฝากไปถึงประชาชนที่มีการบุกรุกพื้นที่ราชพัสดุว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เช่า ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่ถือครองที่ดินดังกล่าวดำเนินการเช่าพื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนในการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทั้งการปลูกพืชอาหาร และการปลูกพืชพลังงานทดแทน ตลอดจนช่วยสนับสนุนการต่อยอดพัฒนาการเกษตร ทั้งด้านเทคโนโลยี, การจัดการระบบโลจิสติกส์ และการทำการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
นายเทวัญ กล่าวต่อว่า กรมธนารักษ์ยังมีนโยบายในการจัดหาที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับภารกิจมาสนับสนุนโครงการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพระราชวัง และมูลนิธิชัยพัฒนา
โดยขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ให้การสนับสนุนพื้นที่ราชพัสดุประมาณ 575 ไร่ ที่ ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประเทศจีนเป็นผู้สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี บุคลากร และพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ในวงเงินราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการของไทยและจีน เป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา ทดสอบ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายของพันธุ์พืช ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตและขยายพันธุ์พืช เพื่อนำไปใช้สำหรับการศึกษาวิจัย และการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
สำหรับศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการไทย-จีน ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นั้น ในส่วนของไทยโดยมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสบผลสำเร็จในการทดลองปลูกผลไม้ต่างถิ่น เช่น สตรอเบอร์รี่, โลควัท, มะขามป้อมอินเดีย, อโคคาโด เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของจีนโดยบริษัท ไชน่า ยูนนาน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(CYC) ได้ทดลองการปลูกกระเทียม มันฝรั่ง ชา ลูกพลับ และข้าวนาดำ เป็นต้น ซึ่งประสบผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน