จีนเผยยอดนำเข้าสินแร่เหล็กจากแอฟริกาใต้-ยูเครน-แคนาดาขยายตัวกว่า 2 เท่าในปี 2552

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 16, 2010 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จีนมียอดนำเข้าสินแร่เหล็กจากแอฟริกาใต้ ยูเครน และแคนาดาในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย ยังคงเป็นสามประเทศรายใหญ่สุดที่จัดหาสินแร่เหล็กให้กับจีน

สำนักข่าวซินหัวรายงานข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนว่า ในปี 2552 จีนมียอดนำเข้าสินแร่เหล็กจากแอฟริกาใต้จำนวน 34.13 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 140% ต่อปี ขณะที่ยอดนำเข้าสินแร่เหล็กจากยูเครน และแคนาดาอยู่ที่ 11.58 ล้านตัน และ 8.65 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 150% และ 130% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ยอดนำเข้าสินแร่เหล็กจากออสเตรเลียขยายตัวขึ้น 42.9% แตะที่ 260 ล้านตัน ส่วนบราซิลส่งออกสินค้าดังกล่าวให้จีนเพิ่มขึ้น 41.5% แตะ 140 ล้านตัน ซึ่งการซื้อสินแร่เหล็กจากสองประเทศนี้มีสัดส่วนสูงถึง 64.4% ของยอดนำเข้าสินแร่เหล็กโดยรวมในปี 2552 นอกจากนี้ ยอดนำเข้าสินแร่เหล็กจากอินเดียโตขึ้น 18% แตะที่ 110 ล้านตันในปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 17.7% ของยอดนำเข้าสินแร่เหล็กโดยรวม

ทั้งนี้ ยอดนำเข้าสินแร่เหล็กของจีนในปี 2552 พุ่งสูงขึ้น 41.6% ต่อปีแตะที่ 630 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาเฉลี่ยลดลง 41.7% จากปีก่อนหน้านี้ไปอยู่ที่ระดับ 79.9 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

รายงานจากกรมศุลกากรจีนระบุถึงเหตุผลที่ทำให้จีนมียอดนำเข้าสินแร่เหล็กเพิ่มขึ้นในปี 2552 ว่าเป็นเพราะการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของจีน ประกอบกับภาวะผลผลิตเหล็กในประเทศตึงตัว และผู้นำเข้าต้องการเพิ่มสต็อกสินแร่เหล็กมากขึ้น

โดยในปี 2552 จีนมีผลผลิตเหล็กและโลหะเพิ่มขึ้น 18.5% แตะที่ 692.4 ล้านตัน ส่วนผลผลิตเหล็กดิบขยายตัวขึ้น 13.5% แตะ 567.8 ล้านตัน และในช่วงเวลาดังกล่าวมีบริษัทจีน 235 แห่งสั่งนำเข้าสินแร่เหล็ก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลง 28 แห่งเมื่อเทียบกับปี 2551

อย่างไรก็ตาม กลุ่มรัฐวิสาหกิจนำเข้าสินแร่เหล็กราว 400 ล้านตันในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.3% จากปีก่อนหน้านี้ และมีสัดส่วนคิดเป็น 64.4% ของยอดนำเข้าสินแร่เหล็กทั้งหมดของประเทศ ส่วนบริษัทเอกชนและบริษัทต่างชาติในจีนนำเข้าสินแร่เหล็ก 87.44 ล้านตัน และ 70.61 ล้านตัน ซึ่งทะยานขึ้น 99.7% และ 95.8% ตามลำดับจากปีก่อนหน้านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ